วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ผมแตกปลาย การใช้เข็มแทงเพื่อแก้หลุมสิว

Healthy Skin Q & A
นิตยสาร HealthToday ฉบับมีนาคม 2554
เขียนโดยนายแพทย์ประวิตร พิศาลบุตร _______________________________________________________________________________________

ผมแตกปลาย การใช้เข็มแทงเพื่อแก้หลุมสิว

ผมแตกปลาย

Q. เป็นคนที่โคนผมค่อนข้างมันแต่ปลายผมแห้งแตกปลาย ไม่ทราบว่ามีวิธีการดูแลอย่างไรดีคะ ?
หมูอ้วน / ปทุมธานี
A. ผมแตกปลายเกิดเมื่อชั้นของเซลล์ของเส้นผมแตกแยกตัวออกจากกัน ไม่มีวิธีที่จะทำให้ชั้นที่แตกแยกออกจากกันนี้กลับมาสมานสนิทได้ถาวร ครีมนวดผม (conditioner) ทำให้เส้นผมที่แตกปลายกลับมาสมานกันได้เพียงชั่วคราวเพียงแค่ 2-3 ชั่วโมง หรืออย่างมากก็แค่ไม่กี่วัน โดยทั่วไปเมื่อสระผมครั้งต่อไปผมก็จะแตกปลายอีก จึงต้องใช้ครีมนวดผมอย่างสม่ำเสมอ คือใช้หลังสระผมแล้วชโลมครีมนวดผมทิ้งไว้สัก 10 นาทีแล้วล้างออก นอกจากนั้นหลังสระผมอย่าขยี้ผมแรงๆ ให้ใช้ผ้าขนหนูสะอาดซับผมให้แห้ง อย่าหวีผมหรือแปรงผมขณะที่ผมยังเปียกอยู่ ถ้าจะใช้เครื่องเป่าผมก็อย่าตั้งอุณหภูมิสูง เพราะจะทำลายเส้นผมทำให้ผมแตกปลายได้ง่ายขึ้น โดยทั่วไปเส้นผมของคนเราหลังตัดครบ 1 เดือนจะเริ่มยาวไม่สม่ำเสมอและมีผมแตกปลาย ดังนั้นการไปพบช่างตัดผมก็จะช่วยให้เรือนผมดูสวยงามอยู่เสมอ



    วิธีแก้ไขผมแตกปลายที่ดีที่สุดก็คือตัดส่วนปลายผมที่แตกปลายออก คนที่ไว้ผมสั้นจึงมีปัญหาเรื่องผมแตกปลายน้อยกว่าคนผมยาว พบว่าสารเคมีเป็นสาเหตุที่ทำให้เส้นผมหักได้บ่อยที่สุด ไม่ว่าจะจากยาย้อมผม ยากัดสีผม ยาดัดผม หรือยาเหยียดผม สารเคมีในตัวยาเหล่านี้ทำให้เส้นผมแห้งและแข็งกระด้าง จึงควรใช้น้ำยาเหล่านี้เมื่อจำเป็นและไม่ควรใช้บ่อยครั้ง

การใช้เข็มแทงเพื่อแก้หลุมสิว
Q. มีหลุมแผลเป็นสิวมาก อ่านมาว่ามีวิธีแก้ไขหลายแบบ แม้กระทั่งการใช้เข็มแทงก็แก้ไขหลุมแผลเป็นสิวได้ อยากถามเรื่องการแก้ไขแผลเป็นสิวครับ

วันศุกร์ / กรุงเทพฯ
A. การรักษาหลุมแผลเป็นสิวหรือแผลเป็นสิวชนิดนูนได้แก่ การทำเลเซ่อร์, การลอกผิวหนังด้วยสารเคมี, และการขัดหน้าด้วยหัวขัด, การฉีดสารเติมเต็ม, การผ่าตัด, และใช้เข็มแทง โดยเทคนิคที่กล่าวไปแล้วข้างต้นมักใช้ในแผลเป็นที่เป็นหลุม ส่วนการฉีดสเตียรอยด์นั้นจะใช้ในแผลเป็นสิวที่ผิวนูนหรือกลายเป็นคีลอยด์

   สำหรับการใช้เข็มแทงแก้ไขหลุมแผลเป็นสิวที่เอ่ยถึงนั้น เทคนิคนี้มีลำดับวิวัฒนาการคือ ในพ.ศ. 2538 มีรายงานการใช้เข็มแทงสอดใต้ผิวหนังเพื่อตัดแซะพังผืดที่ยึดหลุมแผลเป็นไว้เรียกว่า subcision, พ.ศ. 2540 มีรายงานการรักษาหลุมแผลเป็นโดยใช้เครื่องสักสักผิวหนังโดยไม่ใส่สีสำหรับสัก, ต่อมาในพ.ศ. 2549 มีรายงานเทคนิคใช้เข็มแทงผิวหนังด้วยเครื่องมือที่มีลักษณะเป็นลูกกลิ้งหนาม การใช้เข็มแทงสอดใต้ผิวหนังหรือ subcision จะใช้เข็มที่มีปลายลักษณะรูปหอกแทงเป็นมุมเข้าผิวหนังห่างแผลเป็น 1-2 ซม. แล้วเซาะแยกแผลเป็นที่เป็นพังผืดซึ่งยึดก้นหลุมสิวอยู่ จะมีเลือดสะสมและมีการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ขึ้นมาในรอยแยก ทำให้หลุมแผลเป็นค่อยๆ ตื้นขึ้น ปัจจุบันมีการใช้เครื่องมือที่เป็นลูกกลิ้งหนาม (dermaroller) รักษารอยแผลเป็นจากสิว การใช้ลูกกลิ้งหนามไถผิวหนังทำให้เกิดรูเล็กมากที่ชั้นนอกสุดของผิวหนังทำให้ยาซึมผ่านผิวได้มากขึ้น และยังทำให้เกิดการบาดเจ็บเล็กน้อยของชั้นหนังแท้เป็นการกระตุ้นให้มีการสร้างคอลลาเจนขึ้นใหม่ ทำให้รอยแผลเป็นสิวดูดีขึ้น เทคนิคนี้อาจพัฒนาไปสู่การให้วัคซีนทางผิวหนังและการรักษาทางพันธุกรรมอีกด้วย



    ส่วนการผ่าตัดเอาแผลเป็นสิวออก มักใช้ในแผลเป็นสิวที่เป็นรูลึกหรือเป็นหลุมรูปกล่อง อาจใช้เครื่องมือคล้ายปากกามีรูตรงปลายกดลงไปบนรอยแผลเป็นสิว ความคมจะตัดผิวออกเป็นวงกลมตามแนวรูเครื่องมือ ต้องเย็บแผล

   ส่วนการรักษารอยแดงรอยดำหลังเป็นสิว มีการใช้เลเซ่อร์และแสงเพื่อช่วยให้รอยสีผิวที่เปลี่ยนแปลงจากการเป็นสิวดีขึ้น โดยเฉพาะในรอยแดงที่มักพบในคนผิวขาว บางครั้งการรักษารอยแผลเป็นสิวที่เป็นหลุมค่อนข้างยาก จึงอาจอำพรางรอยแผลเป็นโดยการลดรอยแดงรอบแผลเป็น เพราะรอยแดงช่วยเน้นให้ดูว่าหลุมลึกขึ้นและมองเห็นชัดเจนขึ้น เมื่อรอยแดงลดลงแม้ว่าขนาดและความลึกของรอยแผลเป็นยังคงเดิม ก็ทำให้ดูว่ารอยแผลเป็นสิวไม่ค่อยเป็นที่น่าสังเกต ส่วนรอยดำหลังเป็นสิวมักเกิดในคนผิวคล้ำ การรักษารอยดำหลังที่ดีที่สุดคือเวลา เพราะจะค่อยๆ จางหายไปเอง บางครั้งแพทย์อาจให้ยาทาฟอกสีผิวร่วมไปด้วย จำเป็นต้องรักษาสิวที่ยังอักเสบให้หมดไปเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแผลเป็นสิวและรอยดำรอยแดงขึ้นมาใหม่ อีกทั้งต้องไม่บีบไม่แกะสิว เทคนิคการแก้ไขรอยแผลเป็นสิวทุกอย่างที่กล่าวมาส่วนใหญ่เพียงแค่ทำให้แผลเป็นดีขึ้นบ้าง แต่ไม่สามารถขจัดแผลเป็นทั้งหมดออกไปได้