วันพุธที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2554

โรคผิวหนังในพระไตรปิฎก

วิชัยยุทธจุลสาร
ฉบับพฤษภาคม – สิงหาคม 2554


โรคผิวหนังในพระไตรปิฎก

นายแพทย์ประวิตร พิศาลบุตร
แพทยศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
Diplomate, American Board of Dermatology & Dermatological Immunology
บรรณาธิการตำราโรคผิวหนังในเวชปฏิบัติปัจจุบัน ____________________________________________________________________________________

   เมื่อไม่นานมานี้ผมได้อ่านข้อเขียนของท่านนายพลเรือพัฒนพงศ์ พ่วงลาภหลาย ใน ต่วย’ตูน ปักษ์หลัง-ตุลาคม 2553 เรื่อง “สำราญกับละลอกคลื่น” ท่านเปิดต้นเรื่องว่า “ในภาษาไทยมีคำเรียกลักษณะที่ไม่เรียบของน้ำว่า “คลื่น” อยู่คำเดียวเท่านั้น ลักษณะนามของคลื่นคือ ลูก การเคลื่อนที่ของน้ำเป็นแนวยาวซ้อนๆ กันหลายชั้นเรียกว่า “ละลอกคลื่น” ซึ่งอย่าได้เอาไปเกี่ยวข้องกับคำว่า ละลอก หรือ ระลอก ที่หมายถึงโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่มีหนองเป็นอันขาด ต่างเรื่องต่างราวกันมากเลยเชียว....” ถึงตอนนี้ผมเลยเกิดความสงสัยขึ้นมาเลยครับว่า ทำไมผมไม่รู้จักว่าโรคละลอกคือโรคผิวหนังอะไรกันครับ ? .....

   เมื่อไปค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคละลอก จึงได้ทราบว่าโรคละลอกนั้นไม่ใช่โรคใหม่ แต่เป็นโรคเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ขออ้างอิงตำราเรียนกระบวนวิชา GB 406 “สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก” บทที่ 11 “แพทยศาสตร์ในพระไตรปิฎก” หัวข้อ “โรคชนิดต่างๆ ในพระไตรปิฎก” ท่านบรรยายว่า… “คำว่า "โรค" พระอรรถกถาจารย์ให้ความหมายไว้ว่า เสียดแทง หรือเบียดเบียน กล่าวคือเสียดแทงเบียนเบียนร่างกายและจิตใจให้ลำบาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า แต่ก่อนมีโรคร้ายอยู่เพียง 3 ชนิดคือ โรคอยาก โรคหิว และโรคชรา แต่เพราะการทำร้ายเบียดเบียนสัตว์ จึงทำให้มีโรคเพิ่มขึ้นถึง 98 ชนิด โรคทั้ง 98 ชนิดนี้คือโรคที่มีอยู่ในสมัยพุทธกาล แต่ในปัจจุบันมีโรคเพิ่มมากขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก ดังจะเห็นได้ว่าทุกวันนี้มีโรคแปลกๆ ใหม่ๆ และร้ายแรงเกิดขึ้นเรื่อยๆ เช่น โรคเอดส์ โรคไข้หวัดนก โรคซาร์ และล่าสุดคือโรคไข้กระต่าย...”

.... “อย่างไรก็ตามโรคที่มีอยู่ในสมัยพุทธกาลเท่าที่ปรากฎอยู่ในพระไตรปิฎกสามารถแบ่งเป็นกลุ่มได้ประมาณ 6 กลุ่มคือ โรคผิวหนัง โรคลม โรคในท้อง โรคเกี่ยวกับอวัยวะ โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ และโรคเบ็ดเตล็ดอื่นๆ

   โรคผิวหนังหมายถึงโรคที่เกิดบนผิวหนังในบริเวณต่างๆ ของร่างกายเช่น โรคเรื้อน โรคฝี โรคฝีดาษ โรคสิว โรคกลาก โรคเริม โรคพุพอง โรคหิดเปื่อย โรคหิดด้าน โรคละลอก โรคหูด โรคคุดทะราด และโรคคุดทะราดบวม เป็นต้น

โรคเรื้อน หมายถึงโรคผิวหนังชนิดหนึ่งซึ่งติดต่อได้ ทำให้ผิวหนังเป็นผื่น มีหลายชนิดบางชนิดทำให้นิ้วมือนิ้วเท้ากุดเรียกว่า เรื้อนกุฏฐัง บางชนิดมีลักษณะเป็นผื่นคันทำให้ผิวหนังหนาหยาบ และอาจแตกมีน้ำเหลืองไหลหรือตกสะเก็ดในระยะหลัง มักเป็นตามบริเวณข้อเท้าหัวเข่าหรือที่มือเอื้อมไปเกาถึง เรียกว่า เรื้อนกวาง บางชนิดแผลมีสีขาวเรียกว่า เรื้อนน้ำเต้า

โรคฝี หมายถึงโรคชนิดหนึ่งเป็นต่อมบวมขึ้น กลัดหนองข้างใน เรียกชื่อต่างๆ กันหลายชนิดเช่น ฝีคัณฑมาลา ฝีดาษ ฝีประคำร้อย

โรคฝีดาษ หมายถึงโรคฝีชนิดหนึ่ง มักเกิดขึ้นตามลำตัว เป็นเม็ดเล็กๆ ดาษทั่วไป บางครั้งเรียก ไข้ทรพิษ คนโบราณเรียกว่า ไข้หัว

โรคสิว หมายถึงโรคที่มีลักษณะเป็นตุ่มเม็ดเล็กๆ ที่มีหนองเป็นไตสีขาวๆ อยู่ข้างใน ขึ้นบริเวณใบหน้า และส่วนต่างๆ ของลำตัว

โรคกลาก หมายถึงโรคผิวหนังชนิดหนึ่งเกิดจากเชื้อรา ขึ้นเป็นวง มีอาการคัน

โรคเริม หมายถึงโรคติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งขึ้นเป็นเม็ดเล็กๆ พองใสติดกันเป็นกลุ่ม มีอาการคัน ปวดแสบปวดร้อน

โรคพุพอง หมายถึงโรคผิวหนังชนิดหนึ่งเป็นเม็ดผุดขึ้นพองใสตามลำตัว แล้วแตกออกมีน้ำเหลืองหรือน้ำเลือดน้ำหนอง

โรคหิด หมายถึงโรคติดต่อชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นเม็ดสีขาวใสเป็นเงาในเนื้อ ขึ้นตามผิวหนังมีอาการปวดและคัน เรียกว่า หิดด้าน เมื่อเม็ดแตกมีน้ำหนองไหลเยิ้มเรียกว่า หิดเปื่อย

โรคละลอก หมายถึงโรคผิวหนังชนิดหนึ่งเป็นเม็ดมีหนอง

โรคหูด หมายถึงโรคผิวหนังชนิดหนึ่งขึ้นเป็นไตแข็ง

โรคคุดทะราด หมายถึงการเป็นแผลเรื้อรัง บางรายแผลบานเหวอะหวะออก มีกลิ่นเหม็น เป็นแม่แผลให้เกิดแผลอื่นจำพวกเดียวกันพุพองออกไปอีก”……….

   ตำราเรียนเล่มนี้ทำให้ผมทราบว่าโรคละลอกเป็นโรคผิวหนังที่มีอยู่จริง และมีมาตั้งแต่ครั้งสมัยพุทธกาลแล้วด้วยครับ

   สมัยเป็นเด็กนักเรียนจำได้ว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราช.....มหาราชผู้กอบกู้อิสรภาพให้ชาติไทย ท่านเสด็จสวรรคตด้วยพระยอดพิษขึ้นที่พระนลาฏ คือเป็นฝีอักเสบมากที่หน้าผาก ดังพงศาวดารจารึกว่า “เมื่อปี พ.ศ. 2147 สมเด็จพระนเรศวรทรงยกทัพไปต่อสู้กับพระเจ้าอังวะ ทรงตั้งค่ายที่เมืองหาง และทรงพระประชวรเป็นพระยอดพิษที่พระนลาฏ จนถึงเสด็จสวรรคตที่เมืองหาง เมื่อวันจันทร์ เดือน 6 ขึ้น 8 ค่ำ ปีมะเส็ง พระชันษา 50 พรรษา รวมเวลาเสวยราชสมบัติเป็นเวลา 15 ปี”……..
แต่ต่อมาพอเป็นหมอผิวหนัง ก็เปลี่ยนมาเชื่อว่าท่านอาจสวรรคตด้วยทรงเป็นสิวหัวช้าง (nodulocystic acne) และอาจจะเพราะทรงแกะสิว หรือสิวแตกเอง แล้วเชื้อแบคทีเรียลุกลามตามเส้นเลือดดำใบหน้า เข้าไปสู่เส้นเลือดดำที่อยู่ใต้สมอง จนเกิดการอักเสบของเส้นเลือดดำที่ใต้สมองที่เรียกว่า cavernous sinus thrombosis ทำให้เกิดอาการตามัว หรืออาจตาบอด ปวดศีรษะ ดวงตาโปนเหมือนจะถลน ใบหน้าบวมเป่ง ใบหน้าเป็นอัมพาต....คงเคยเป็นแผลติดเชื้อ หรือเป็นฝีที่แขนขา หรือที่ก้น กันมาแล้วนะครับ สมัยเด็กๆ จำได้ว่าผมเกลียดเจ้าฝีที่ก้นนี้นัก เป็นทีไรนั่งเรียนไม่เป็นสุขเลย....พอมีการติดเชื้อเกิดการอักเสบจะเกิดอาการบวม แดง ร้อน ตามมา แต่พอไปเกิดการอักเสบที่หย่อมเส้นเลือดนี้ที่อยู่ใต้สมองเนี่ย มันจะเพิ่มความดันในสมองครับ เพราะสมองถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่แคบๆ เมื่อเกิดก้อนบวมโตในสมอง ก้อนนี้ก็จะไปกดศูนย์กลางการทำงานในสมองที่จำเป็นในชีวิตคือ ศูนย์เมตาบอลิซึมคือต่อมปิจูตารี่ (pituitary), ศูนย์อารมณ์คือไฮโปทาลามัส (hypothalamus) และศูนย์หายใจคือก้านสมอง (brainstem)

   จึงต้องพร่ำเตือนกันว่าอย่าแกะสิวเลยครับ นอกจากจะเสี่ยงชีวิตแล้วยังเกิด “หน้าเพรียง” ได้ เรื่องหน้าเพรียงขอเก็บไว้คุยกันตอนท้ายนะครับ พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ เขียนในนิตยสารใกล้หมอ ฉบับมิถุนายน 2547 ว่า เคยผ่าศพผู้ที่เป็นฝีในสมองจนถึงแก่กรรม เพราะเป็นสิวและไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง......สาเหตุการเกิดฝีในสมองแบบนี้นอกจากเกิดจากสิว (ภาพที่ 1) 

- จากฝีที่ใบหน้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่หน้าผากแล้ว ยังอาจเกิดจากการติดเชื้อที่ฟัน ที่ต่อมทอนซิล ที่ในรูหู รูจมูกก็ได้ครับ ที่จริงแล้วโรค cavernous sinus thrombosis เนี่ย พบได้น้อยมากๆ นะครับ มีรายงานการแพทย์ทั่วโลกว่า พบผู้ป่วยโรคนี้ทั้งหมดในโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันแค่ 200-300 รายเท่านั้น และส่วนใหญ่ก็พบในยุคก่อนที่จะค้นพบยาปฏิชีวนะครับ แต่ถึงพบน้อยมากก็น่าสยดสยองสุดๆ เพราะในยุคก่อนที่จะมียาปฏิชีวนะดีๆ ใช้นี่ ใครเป็นโรคนี้ก็จองวัดจองเมรุได้เลยครับ เพราะอัตราตายคือร้อยละ 100 ถึงในยุคปัจจุบันที่ว่ามียาดีๆ ใหม่ๆ มากมาย อัตราตายก็ยังถึงร้อยละ 30 ครับ..........

   เมื่อยังไม่ทราบรายละเอียดของโรคละลอก ทำให้ต้องไปหาข้อมูลมาเพิ่ม ก็เลยได้มุมมองใหม่ๆ มาว่า บางที่กล่าวว่า “สมเด็จพระนเรศวรมหาราชท่านเสด็จสวรรคตด้วยพระโรคละลอก” ครับ  บางตำราระบุว่า “สมเด็จพระนเรศวรทรงพระประชวรเป็นหัวละลอกขึ้นที่พระพักตร์ แล้วกลายเป็นบาดทะพิษพระอาการหนัก จึงโปรดให้ข้าหลวงรีบไปเชิญเสด็จสมเด็จพระเอกาทศรถมาเฝ้า สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จฯ มาถึงได้ 3 วัน สมเด็จพระนเรศวรก็เสด็จสวรรคต.....” คำว่าละลอกหรือระลอกนี้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ระบุว่าเป็นคำนาม แปลว่าชื่อโรคชนิดหนึ่ง พองเป็นหัวเล็ก ๆ คล้ายฝี ส่วนคำว่าบาดทะพิษ แปลว่า แผลที่ตัวเชื้อโรค Streptococci เข้าไปทําให้เลือดเป็นพิษ จึงน่าจะเข้าได้กับข้อมูลดั้งเดิมที่เคยเรียนรู้สมัยยังเด็กว่าท่านสวรรคตด้วยเป็นฝี หรือสิวหัวช้าง และเชื้อลุกลามตามเส้นเลือดดำเข้าสู่สมอง แต่ก็มีบางท่านสันนิษฐานว่าพระองค์ท่านอาจเป็นโรคไฟลามทุ่งที่ศัพท์แพทย์เรียกว่า erysipelas (ภาพที่ 2)


- สมัยก่อนโรคไฟลามทุ่งนี้มักเป็นที่ใบหน้า และเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ Streptococcus pyogenes ครับ แต่ยุคสมัยปัจจุบันนี้โรคนี้มักเป็นที่ขา และอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ non–group A streptococci โรคนี้จะมีผิวหนังอักเสบบวมแดงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วสมชื่อไฟลามทุ่งเลยล่ะครับ......

   และยังมีบางตำนานที่เชื่อว่าท่านเสด็จสวรรคตเพราะโดนผึ้งต่อย หากเป็นจากผึ้งต่อยก็จะเป็นการสวรรคตจากการแพ้อย่างรุนแรง จนหมดพระสติหรือ shock ไปนั่นเองครับ นอกจากผึ้งแล้ว ต่อและแตนก็ทำให้แพ้อย่างรุนแรงจนเสียชีวิตได้เช่นกันครับ และก็ขอสันนิษฐานเพิ่มเติมว่า คำว่าโรคละลอกนี่ น่าจะหมายรวมถึงโรคเริมและโรคงูสวัดก็ได้ ปกติโรคเริมและโรคงูสวัดจะเป็นหย่อมของตุ่มน้ำใสๆ (ภาพที่ 3 และ 4)


- แต่บางทีมีการติดเชื้อแบคทีแทรกซ้อน ก็อาจเป็นตุ่มหนองได้ ทั้งโรคเริมและโรคงูสวัดที่เกิดจากเชื้อไวรัสนี้อาจเข้าสมองทำให้สมองอักเสบจนถึงขั้นเสียชีวิตได้เช่นกันครับ

   เคยมีผู้ป่วยหญิงวัยราว 30 ปีมาพบผม เธอรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวมาวันสองวัน และเริ่มมีตุ่มน้ำใสเล็กๆ ขึ้นที่หลัง 2-3 ตุ่ม เมื่อราว 2 สัปดาห์ก่อนคุณแม่ของเธอมีผื่นแดง และตุ่มน้ำใสขึ้นที่ใบหน้า มีอาการปวดมาก ไปพบแพทย์แผนโบราณซึ่งให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคขยุ้มตีนหมา จึงทำให้ผมปะติดปะต่อเรื่องราวได้ว่า อาการตุ่มน้ำใสและปวดของคุณแม่เธอนั้นน่าจะเป็นอาการของโรคงูสวัด ซึ่งโรคงูสวัดและอีสุกอีใสนั้นเกิดจากเชื้อไวรัสตัวเดียวกัน ในการติดเชื้อไวรัสตัวนี้ครั้งแรกจะแสดงอาการออกมาในรูปของอีสุกอีใส เมื่ออีสุกอีใสหายแล้ว เชื้อไวรัสต้นเหตุจะเคลื่อนไปอยู่ที่เส้นประสาท หลบซ่อนตัวอยู่ วันดีคืนดีจึงแผลงฤทธิ์ออกมาทำให้เกิดโรคงูสวัดขึ้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของคำว่าขยุ้มตีนหมา คือชื่อโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง มีพิษอักเสบออกเป็นเม็ดผื่นดวงๆ, งูสวัด คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง มีอาการอักเสบอย่างเฉียบพลันที่ปมประสาทไขสันหลัง และพุเป็นเม็ดพองตามผิวหนังเป็นทางยาวพาดขวางลำตัว เป็นต้น ทำให้ปวดแสบปวดร้อน, และ อีสุกอีใส คือ ชื่อโรคชนิดหนึ่งเกิดตามผิวหนัง เป็นเม็ดพองใสๆ ขึ้นตามตัว............ ผมคิดว่า ขยุ้มตีนหมา คงเป็นคำรวมๆ ซึ่งงูสวัดก็อาจแสดงอาการแบบนี้ออกมาได้ ในกรณีนี้ก็คือผู้ป่วยรายนี้เธอได้รับเชื้อไวรัสอีสุกอีใสจากคุณแม่ที่เป็นงูสวัด สำหรับเธอแล้วเป็นการติดเชื้อครั้งแรกจึงแสดงอาการออกมาในรูปของอีสุกอีใส แต่ถ้าเธอหายจากอีสุกอีใสแล้ว อีกหลายๆ ปีเธอมีตุ่มน้ำขึ้นเป็นแนวยาวพร้อมอาการเจ็บปวด นั่นอาจหมายถึงเธอเป็นงูสวัดจากเชื้ออีสุกอีใสที่ยังแฝงอยู่ในตัวเธอนั่นแหละครับ

   เรื่องโรคละลอกยังไม่จบแค่นี้ครับ ผมไปค้นเจอเพิ่มเติมในเวบไซด์ของนิตยสารสารคดี (www.sarakadee.com) ระบุว่าในพระราชพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยาได้บันทึกไว้ว่า “สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 หน่อพุทธางกูร และสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ประชวรด้วยไข้ทรพิษเสด็จสวรรคตทั้งสองพระองค์......ข้อมูลนี้ทำให้ตอนนี้ผมเห็นด้วยว่า ถ้าจะสันนิษฐานกันแล้ว สมเด็จพระนเรศวรมหาราชน่าจะเสด็จสวรรคตจากการประชวรด้วยไข้ทรพิษมากกว่าจากโรคอื่นๆ เพราะโรคไข้ทรพิษในสมัยนั้นพบบ่อยมากครับ

   ผมจึงขออนุญาตขยายความตรงนี้หน่อยนะครับ โรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ ภาษาอังกฤษเรียกว่า smallpox เป็นโรคที่มีมาแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ เชื่อว่าเริ่มพบในคนเราตั้งแต่ยุค 10,000 ปีก่อนคริสตกาล มีคนหลายล้านคนทั่วโลกที่เสียชีวิตจากโรคนี้ เฉพาะในช่วงคริสตศตวรรษที่ 20 (คำว่าคริสตศตวรรษที่ 20 เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1901 และจบลงในวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 2000) เชื่อว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคฝีดาษ 300-500 ล้านคน ผู้เชี่ยวชาญบางท่านกล่าวว่า จำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคฝีดาษมีจำนวนมากกว่าผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อทุกชนิดรวมกันเสียอีกครับ ประวัติศาสตร์ยังจารึกว่าโรคฝีดาษได้คร่าชีวิตราชวงศ์หลายพระองค์ คือ ราชินี Mary ที่ 2 แห่งอังกฤษ, จักรพรรดิ Joseph ที่ 1 แห่งออสเตรีย, กษัตริย์ Luis ที่ 1 แห่งสเปน, ซาร์ Peter ที่ 2แห่งรัสเซีย, ราชินี Ulrika Elenora แห่งสวีเดน, และพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แห่งฝรั่งเศส จนแม้กระทั่งสมเด็จพระบรมราชาที่ 4 หน่อพุทธางกูร และสมเด็จพระนเรศวรมหาราชของชาวไทย พบว่าผู้ป่วยโรคฝีดาษร้อยละ 30 จะเสียชีวิต และร้อยละ 65-80 จะเกิดแผลเป็นหลุมบ่อขนาดลึกตามผิวหนัง และมักเป็นเด่นชัดที่ใบหน้า..........

   ทำให้นึกขึ้นได้ว่าเคยอ่านเรื่อง “คนอัปลักษณ์” ของ อาจารย์ดร.ญาดา อรุณเวช อารัมภีร ใน “ต่วย’ตูน” ปักษ์หลัง กุมภาพันธ์ 2553 อาจารย์เขียนว่า.....แค่วรรคแรก จรกาก็เสียคะแนนไปแล้ว หาความงามสักนิดก็ไม่มี เพราะ ‘หน้าเพรียง’ ก็คือใบหน้าปรุเป็นรอยพรุนจาก ‘โรคฝีดาษ’ โรคดึกดำบรรพ์ที่ยังมีอยู่จนทุกวันนี้.....” นับว่าจรกาเป็นผู้โชคดีที่รอดชีวิตจากโรคนี้ แต่โชคร้ายที่เกิดแผลเป็นที่ใบหน้าจนอาจารย์ญาดาท่านจัดให้เป็นคนอัปลักษณ์ ในปีค.ศ. 1967 องค์การอนามัยโลกได้รณรงค์ให้ปลูกฝีเพื่อสกัดกั้นโรคนี้อย่างเต็มที่จนสามารถขจัดโรคฝีดาษให้หมดไปได้ ขณะนี้จึงจัดว่าโรคฝีดาษเป็นโรคติดเชื้อเพียงอย่างเดียวที่มนุษยชาติสามารถเอาชนะ คือกำจัดมันได้อย่างสิ้นซาก ผู้ป่วยคนสุดท้ายที่เป็นฝีดาษ (ที่เกิดในธรรมชาติ) พบที่ประเทศโซมาเลียเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ. 1977 คือ Ali Moallin ซึ่งรอดชีวิตแต่ก็มี ‘หน้าเพรียง’ เช่นเดียวกับจรกา แต่เป็นที่น่าเสียใจว่าเกิดอุบัติเหตุในห้องทดลองในสหราชอาณาจักรในค.ศ. 1978 ทำให้ช่างภาพทางการแพทย์ชื่อ Janet Parker ติดเชื้อโรคฝีดาษและเสียชีวิต กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำที่ศึกษาโรคนี้ได้ประชุมกันในเดือนธันวาคม ค.ศ.1979 และสรุปว่าโรคฝีดาษหมดจากโลกแล้ว และในปีต่อมาคือค.ศ. 1980 World Health Assembly ได้ยืนยันและรับรองว่าโรคฝีดาษสูญพันธุ์จากโลกไปแล้ว และได้ยกเลิกการปลูกฝีเพื่อป้องกันไข้ทรพิษ อย่างไรก็ตามยังมีห้องปฏิบัติการอยู่ 2 แห่งที่ยังเก็บตัวอย่างปริมาณเล็กน้อยของเชื้อตัวนี้ไว้ และเป็นที่เกรงกันว่าอาจเกิดการก่อการร้ายด้วยสารชีวภาพโดยอาศัยเชื้อตัวนี้ครับ สำหรับในไทยมีบันทึกว่าฝีดาษระบาดครั้งสุดท้ายปี พ.ศ. 2504 กระทรวงสาธารณสุขของไทยได้ยกเลิกการปลูกฝีแก่ชาวบ้านทั่วไปตั้งแต่ ธันวาคม พ.ศ. 2522 ..... สรุปว่า โรคฝีดาษเป็นดึกดำบรรพ์ที่ยังมีอยู่จนทุกวันนี้ แต่ตอนนี้เชื้อมีอยู่แค่ในห้องทดลองที่เก็บตัวอย่างเชื้อไว้วิจัยเท่านั้นครับ

   อาจารย์ญาดาท่านเขียนไว้ว่า... “คำว่า ‘หน้าเพรียง’ สมัยนี้ไม่มีใครนึกออก แต่ถ้าบอกว่า ‘หน้าข้าวตัง’ คงร้องอ๋อ ถึงไม่ใช่ก็ใกล้เคียงแหละน่า เพราะ ‘หน้าข้าวตัง’ อาจเกิดจากมีสิวมากแล้วเจ้าของใบหน้าเอามือไปบีบเคล้นแกะเกาอย่างเมามันก็เลยมีผิวหน้าเป็นรูๆ หลุมๆ คล้าย’หน้าเพรียง’ เพราะฝีดาษอย่างไรอย่างนั้น .....” ท่อนนี้เห็นด้วยกับอาจารย์ 100 เปอร์เซ็นต์ครับ แต่ในฐานะหมอผิวหนังอยากฝากข้อมูลว่า โรคสิวนั้นนอกจากก่อความเจ็บป่วยทางร่างกายแล้วยังส่งผลต่ออาชีพการงาน ผู้เป็นสิวเวลาไปสัมภาษณ์งานมักไม่ได้รับเลือก ก็กรรมการเขามีเวลาสัมภาษณ์กันคนละไม่กี่นาทีนี่ครับ เขาก็เลยต้องดูรูปลักษณ์ภายนอกจะให้เหมือนอย่างนางรจนาที่มองทะลุรูปเงาะไปเห็นรูปทองของพระสังข์นั้นคงลำบากนะครับ นอกจากนั้นในกลุ่มผู้เป็นสิวและมีหน้าข้าวตังเนี่ย เมื่อถึงพิจารณาเลื่อนขั้นให้ความดีความชอบก็มักถูกมองข้ามไปครับ คือคนที่หน้าเกลี้ยงเกลาจะได้รับการเลื่อนตำแหน่งมากกว่า สรุปว่า ’หน้าเพรียง’ จากฝีดาษในอดีต มาจนถึง ‘หน้าข้าวตัง’ ในปัจจุบันต่างก็ยังไม่เป็นที่นิยมกันนะครับ..........

   ในตอนต้นได้กล่าวว่ามีโรคอุบัติใหม่ที่ชื่อโรคไข้กระต่ายนั้น เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2551 พบโรคไข้กระต่ายรายแรกของประเทศไทยที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผู้เสียชีวิตดังกล่าวเป็นเพศหญิงอายุ 37 ปี โดยติดเชื้อแบคทีเรียบาซิลัสที่ชื่อว่า ฟรานซิเซลล่า ทูลารีซิส (Francisella tularensis) โรคนี้มีอาการเหมือนโรคกาฬโรคคือ ต่อมน้ำเหลืองโต มีไข้สูง มีน้ำมูก และมีอาการท้องเสียร่วมด้วย โรคนี้สามารถติดจากสัตว์ไปสู่คนได้ โดยสัตว์รังโรคคือสัตว์ป่าที่เลี้ยงลูกด้วยนม รวมทั้งสัตว์ฟันแทะเช่น กระต่าย หนู กระรอก กวาง แพรี ด๊อก (Parrie dog) และสามารถติดต่อมายังสัตว์เลี้ยงจำพวกวัว ควาย แกะ และแมวได้ โรคนี้ติดต่อมายังคนโดยการถูกแมลงพาหะคือเหลือบ เห็บ หมัด หรือยุงกัดสัตว์ที่ติดเชื้อนี้แล้วมากัดคน หรือติดโดยสัมผัสกับเลือด หรือสารคัดหลั่งของสัตว์ที่ป่วยด้วยโรคนี้เข้าทางบาดแผล เยื่อเมือก หรือรอยถลอก ขีดข่วน หรือถูกสัตว์ป่วยกัดโดยตรง ยังพบว่าการหายใจ หรือกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อโรคปนได้เชื้อก็สามารถทำให้ติดเชื้อได้ ไม่มีรายงานการติดต่อระหว่างคนสู่คน

   สำหรับชื่อโรคที่อาจไม่คุ้นหู ผมขอให้ความหมายตามที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ไว้ดังนี้

กุฏฐัง - โรคเรื้อนซึ่งทําให้อวัยวะเช่นมือและเท้ากุดเหี้ยนไป ฝีคัณฑมาลา - ชื่อฝีชนิดหนึ่งที่ขึ้นเป็นแถวตามคอ ฝีประคำร้อย - ชื่อฝีชนิดหนึ่งเกิดขึ้นบริเวณลำคอ เป็นเม็ดเรียงกันรอบคอ หิด - ชื่อโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อ Sarcoptes scabiei ลักษณะเป็นเม็ดสีขาว ใสเป็นเงาในเนื้อ ขึ้นตามผิวหนัง มีอาการปวดและคันเรียกว่า หิดด้าน เมื่อเม็ดแตกมีนํ้าเหลืองไหลเยิ้มเรียกว่า หิดเปื่อย

คุดทะราด - ชื่อโรคติดต่อชนิดหนึ่ง เป็นแผลเรื้อรัง บางรายแผลนั้นบานเหวอะหวะออก มีกลิ่นเหม็น เป็นแม่แผลให้เกิดแผลอื่นจําพวกเดียวกันพุออกไปอีก



   สำหรับโรคเรื้อนกวางหรือ psoriasis ที่ปัจจุบันเรียกว่าโรคสะเก็ดเงินนี่ (ภาพที่ 5) ชื่อเดิมมันใกล้เคียงกับโรคเรื้อน ที่เป็นโรคติดต่อ ฟังชื่อดูน่ากลัว ทั้งๆ ที่เรื้อนกวางนั้นไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคจึงไม่ติดต่อ ตอนหลังเปลี่ยนมาเป็นชื่อโรคสะเก็ดเงินตามลักษณะปื้นนูนหนาที่มีสะเก็ดสีขาว ชื่อน่าฟังขึ้นเยอะครับ แต่จริงๆ ผมว่าโรคเรื้อนกวางน่าจะเข้าได้กับโรคผิวเปลือกไม้คือ lichen simplex chronicus หรือ chronic eczema มากกว่าครับ (ภาพที่ 6)


   จึงเห็นได้ว่าโรคผิวหนังหลายอย่างที่กล่าวถึงในบทความนี้ ไม่ว่าจะเป็นโรคฝีดาษ โรคสิว โรคเริม โรคละลอก ล้วนเป็นโรคผิวหนังที่พบมาแต่สมัยพุทธกาล และคงยังมีให้เห็นในปัจจุบัน จะมีแค่แต่โรคฝีดาษเพียงอย่างเดียว ที่ดูว่ามนุษย์เราจะเอาชนะโรคนี้ได้นะครับ

______________________________________________________________________________________

เอกสารอ้างอิง
1. ตำราเรียนกระบวนวิชา GB 406 “สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก” บทที่ 11 “แพทยศาสตร์ในพระไตรปิฎก”. (จาก http://main.dou.us/view_content.php?s_id=451)

2. ประวิตร พิศาลบุตร. โรคละลอก !?!. นิตยสารต่วย’ตูน 2554; 40(13):60-69. 3. ธีรศักดิ์ ชักนำ. โรคทูลารีเมีย (Tularemia). (จาก Bureau of Epidemiology, DDC, MPH; http://epid.moph.go.th/fact/Tularemia.htm) _____________________________________________________________________________________