วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เด็กเล็กเป็นสิวได้ไหม ?

นิตยสาร หมอชาวบ้าน
คอลัมน์ ผิวสวย หน้าใส
มีนาคม ๒๕๕๔
ผู้เขียน นายแพทย์ประวิตร พิศาลบุตร


สารพันปัญหาเกี่ยวกับโรคสิว..............
เด็กเล็กเป็นสิวได้ไหม ?

____________________________________________________________________________________

เด็กเล็กเป็นสิวได้ไหม ?

   ทราบกันดีว่าสิวมักพบในเด็กวัยรุ่น แต่ที่จริงแล้วโรคสิวในเด็กพบได้ในทุกช่วงอายุของเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยรุ่น และมีลักษณะแตกต่างกันได้ดังนี้ครับ
1. สิวในเด็กแรกเกิด - พบได้ในทารกอายุ 2-3 สัปดาห์จนถึงเดือนแรกๆ หลังคลอด พบว่าสิวมีลักษณะเป็นตุ่มแดง และตุ่มหนอง ไม่ค่อยพบสิวอุดตัน (คือสิวหัวดำ, สิวหัวขาว)


2. สิวในทารก - พบในช่วงวัยทารกตอนปลาย (คืออายุหลายเดือนจนถึง 1 ขวบ) โดยพบลักษณะร่วมกันทั้งสิวหัวดำ, สิวหัวขาว, ตุ่มแดง, และตุ่มหนอง พบบ่อยที่แก้ม และพบในทารกเพศชายบ่อยกว่า

3. สิวในวัยเด็กตอนกลาง - พบในช่วงอายุ 1 ขวบครึ่งจนถึงอายุ 7 ขวบ พบสิวทั้งสิวหัวดำ, สิวหัวขาว, ตุ่มอักเสบแดง, และตุ่มหนอง สิวในวัยนี้พบได้น้อยมาก แต่ต้องให้ความสำคัญเพราะอาจมีความผิดปกติภายในร่างกายร่วมด้วย

4. สิวก่อนวัยรุ่น - พบในช่วงอายุ 8–11 ปี ลักษณะเฉพาะคือพบรอยโรคที่หน้าผาก, กึ่งกลางใบหน้า และพบว่ามีสิวอุดตันจำนวนมากเป็นลักษณะเด่น (ซึ่งไม่เหมือนสิวในวัยรุ่น) สิวชนิดนี้เริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น และอาจเป็นลักษณะที่พบนำมาก่อนที่จะพบลักษณะการเปลี่ยนแปลงของการเข้าสู่วัยรุ่นแบบอื่นๆ

5. สิวในวัยรุ่น - พบในช่วงอายุ 12–18 ปี โดยพบสิวได้ทุกชนิด ตั้งแต่สิวอุดตันหัวขาวหัวดำ จนถึงสิวอักเสบเรื้อรังเป็นถุงซิสต์ที่เรียกว่าสิวหัวช้างซึ่งอาจก่อแผลเป็นถาวร ผู้ปกครองต้องระวังผลกระทบต่อจิตใจของวัยรุ่นด้วย

สิวเป็นแค่เรื่องความงาม…หรือเป็นโรคผิวหนัง ?


   สิวมีผลต่อบุคลิกภาพจริงแต่ก็ไม่ค่อยก่ออันตรายร้ายแรงต่อร่างกาย จึงมักมองกันว่าสิวเป็นแค่เรื่องความงามเท่านั้น ทั้งที่จริงแล้วสิวจัดเป็นโรคผิวหนังอย่างหนึ่ง การใช้ยาทา, ยากินรักษาสิวมีข้อบ่งชี้แตกต่างกันไปขึ้นกับลักษณะและความรุนแรงของโรค ยาทา, ยากินรักษาสิวหลายขนานมีผลแทรกซ้อนได้จนถึงขั้นทำให้ทารกในครรภ์พิการ การรักษาสิวที่ไม่ถูกต้องจึงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากยาและทำให้เกิดแผลเป็นถาวรได้ ความเชื่อที่ว่าสิวเป็นเรื่องธรรมชาติไม่ต้องรักษาก็ได้จึงเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะสิวที่รุนแรงบางชนิดหากปล่อยให้หายเองจะทิ้งแผลเป็นอย่างมาก (physical scars) ซึ่งมีงานวิจัยชี้ว่าแผลเป็นทางร่างกายเหล่านี้จะส่งผลเสียทางจิตใจด้วย (psychological scar) มีงานวิจัยแสดงว่าโรคสิวก่อให้เกิดผลเสียทางด้านจิตใจต่อผู้ป่วยอย่างชัดเจน คือเมื่อตรวจสอบภาวะทางจิตใจโดยอาศัยจิตแพทย์และนักจิตวิทยาพบว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคสิวเรื้อรังร้อยละ 44 เกิดความกังวล และร้อยละ 18 มีอารมณ์ซึมเศร้า พบว่าสิวก่อให้เกิดผลเสียต่อจิตใจในหญิงมากกว่าชาย และยังพบว่าความกังวลและอารมณ์ซึมเศร้านี้อาจคงอยู่ได้นาน ยังมีงานวิจัยแสดงแนวโน้มว่าผู้เป็นสิวมีโอกาสตกงาน และไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งมากกว่าผู้ที่ไม่เป็นสิว

   พบว่าในผู้ป่วยหลายรายผลทางจิตใจไม่ได้ผันแปรตามความรุนแรงของสิว ในผู้ป่วยที่เคยเป็นสิวรุนแรงมากมาก่อนพอเริ่มเป็นสิวใหม่แม้จะเป็นเพียงเล็กน้อย ผู้ป่วยก็อาจกังวลใจมาก เนื่องจากกลัวว่าจะเป็นสิวรุนแรงขึ้นมาอีกและทำให้เกิดแผลเป็นถาวร ดังนั้นการรักษาโรคสิวจึงต้องคำนึงถึงความรุนแรงของรอยโรคสิว ควบคู่ไปกับผลต่อสภาพจิตใจผู้ป่วยด้วย

ยากินยาทารักษาสิวตัวใดที่ห้ามใช้ถ้าจะตั้งครรภ์ ?

   ยารักษาสิวที่จัดว่าปลอดภัยในกรณีที่ตั้งครรภ์ คือ ยาทาเบนซอยล์เปอร์ออกไซด์ หรือบีพี (BP, benzoyl peroxide), อิริโทรมัยซิน (erythromycin) ทั้งในรูปยาทา และยากิน, ยาทาคลินดามัยซิน (clindamycin), ยาทากรดอะเซเลอิค (azelaic acid)

   ยารักษาสิวที่ห้ามใช้ในสตรีที่มีโอกาสตั้งครรภ์ คือยากินไอโซเตรทติโนอิน (isotretinoin), ยากินกลุ่มเตตร้าซัยคลิน (tetracyclines) คือตัวเตตร้าซัยคลิน (tetracycline) เอง รวมถึงด็อกซี่ซัยคลิน (doxycycline) และมิโนซัยคลิน (minocycline), ยากินสไปโรโนแล็กโทน (spironolactone) ซึ่งเป็นยาต้านแอนโดรเจน (antiandrogens), และยาทากลุ่มกรดเรตินอยด์ (retinoids) ทั้งในรูปครีมและเจล ซึ่งยาทาเรตินอยด์ที่ใช้รักษาโรคสิวได้แก่ เตรทติโนอิน (tretinoin), ไอโซเตรทติโนอิน (isotretinoin), อะแดปพาลีน (adapalene), และแทซซาโรทีน (tazarotene)

สำหรับยากินรักษาสิวที่รู้จักกันดีในชื่อ ”ยาเม็ดรักบี้” เพราะลักษณะเม็ดยาเป็นแคปซูลลูกรักบี้สีม่วงสีชมพู คือยากินที่ชื่อไอโซเตรทติโนอิน (isotretinoin) ยาตัวนี้เป็นยารักษาสิวที่ทำให้เกิดทารกพิการ ในกรณีที่ผู้ป่วยกินยาตัวนี้แล้วสงสัยว่าตั้งครรภ์ต้องหยุดยาทันที ทดสอบการตั้งครรภ์ หากตั้งครรภ์จริงต้องแจ้งแพทย์ผู้สั่งจ่ายยาเพื่อการปรึกษาและส่งต่อสูตินรีแพทย์เพื่อพิจารณาการทำแท้ง ดังนั้นจึงห้ามไม่ให้ใช้ยาตัวนี้ในผู้หญิงที่คิดจะตั้งครรภ์หรือกำลังตั้งครรภ์อยู่ ต้องหยุดยาครบ 1 เดือนจึงตั้งครรภ์ได้โดยปลอดภัย, ต้องไม่ให้ยานี้ขณะให้นมบุตร, ต้องไม่บริจาคโลหิตระหว่างรับยา, ไม่นำยาไปแจกจ่ายผู้อื่น และต้องใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์โดยเคร่งครัดเท่านั้น ยาตัวนี้ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ผิวหนังเพื่อความปลอดภัย และเป็นที่น่าวิตกว่าในประเทศไทยสามารถหาซื้อยานี้ได้ทั่วไปโดยไม่ผ่านแพทย์ _____________________________________________________________________________________