วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2554

คำถาม...เรื่อง“โรคสะเก็ดเงิน”

Healthy Skin Q&A
HealthToday เมษายน 2553
นายแพทย์ประวิตร พิศาลบุตร


คำถาม...เรื่อง“โรคสะเก็ดเงิน”

ทำไมผื่นโรคสะเก็ดเงินจึงไม่เหมือนกัน ?

Q. สามีดิฉันอายุ 48 ปี อ้วนมาก มีผื่นแดงมีสะเก็ดหนาขนาดใหญ่ขึ้นที่หัวเข่า, ข้อศอก, หลัง และมีผื่นที่หนังศีรษะ คุณหมอบอกว่าเป็นโรคสะเก็ดเงิน เพื่อนบอกว่าลูกชายเขาก็เป็นโรคสะเก็ดเงินเหมือนกัน แต่ผื่นจะเป็นจุดๆ ขนาดเล็กกระจายที่หลัง จึงสงสัยว่าโรคสะเก็ดเงินทำไมจึงมีผื่นไม่เหมือนกันคะ ? อัจฉราพรรณ/กรุงเทพฯ

A. ก่อนจะตอบคำถามของคุณอัจฉราพรรณ ต้องขอเล่าว่าโรคสะเก็ดเงินเป็นโรคผิวหนังที่พบบ่อยที่สุดอย่างหนึ่ง โรคสะเก็ดแสดงอาการให้เห็นได้หลายรูปแบบคือ
     1. โรคสะเก็ดเงินชนิดปื้นนูนหนาขนาดใหญ่ และเป็นเรื้อรัง พบในส่วนใหญ่ของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน เป็นปื้นนูนหนาขนาดใหญ่, มีขอบเขตชัดเจน, สีออกชมพูถึงแดง, มีสะเก็ดสีเงินปกคลุม อาจมีอาการคันร่วมด้วย พบผื่นนี้บ่อยที่ข้อศอก,
ข้อเข่า, แขนขา, หนังศีรษะ และหลังด้านล่าง/ก้น เท่าที่ฟังดูคิดว่าสามีคุณอัจฉราพรรณน่าจะเป็นโรคสะเก็ดเงินชนิดนี้











































(ภาพแสดงโรคสะเก็ดเงินปื้นนูนหนาขนาดใหญ่ และเป็นเรื้อรัง)

     2. โรคสะเก็ดเงินชนิดรูปหยดน้ำ ชนิดนี้พบบ่อยที่สุดในเด็ก,วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ลักษณะเป็นตุ่มขนาดเล็ก (เส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 1 ซม.) จำนวนมากตามลำตัว, แขนขา และหนังศีรษะ พบบ่อยว่ามักเป็นหลังจากเจ็บคอประมาณ 2 สัปดาห์ เข้าใจว่าโรคสะเก็ดเงินในบุตรชายของเพื่อนคุณอัจฉราพรรณน่าจะเป็นโรคสะเก็ดเงินชนิดนี้, 3. โรคสะเก็ดเงินชนิดเป็นที่ตามซอกพับ พบผื่นตามขาหนีบ, รักแร้ และใต้ราวนม ไม่ค่อยพบขุยเพราะผิวมักเปียกชื้น มักพบเป็นผื่นแดง ขอบเขตชัดเจน อาจพบผื่นสะเก็ดหนาแบบในโรคสะเก็ดเงินเรื้อรังร่วมด้วย, 4. โรคสะเก็ดเงินชนิดเป็นที่ฝ่ามือ, ฝ่าเท้า ผื่นชนิดนี้อาจหนามาก และทำให้ฝ่ามือ ฝ่าเท้าแตก และมีอาการเจ็บ, 5. โรคสะเก็ดเงินชนิดตุ่มหนอง พบได้น้อย แต่จะมีอาการรุนแรง ผู้ป่วยมักรู้สึกไม่สบาย, มีไข้ และเจ็บผิวหนังร่วมด้วย, 6. โรคสะเก็ดเงินชนิดผิวแดงทั้งตัว จะเรียกว่าเกิดภาวะผิวแดงทั้งตัว (erythroderma) เมื่อผิวหนังอักเสบแดงเกินร้อยละ 90 ของร่างกายขึ้นไป และ 7. โรคสะเก็ดเงินของหนังศีรษะ(sebopsoriasis) พบบ่อยที่หนังศีรษะ และที่ใบหน้า (หว่างคิ้ว, คิ้ว และร่องแก้ม), หลังและหน้าใบหู บางครั้งพบที่กลางหน้าอก ลักษณะคล้ายโรคเซ็บเดิร์ม แต่ในโรค sebopsoriasis จะพบปื้นนูนที่มีขอบเขตชัดเจนกว่า
     นอกจากนั้นในผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินอาจพบความผิดปกติของเล็บและข้อได้อีกด้วย ลักษณะคือ เล็บมีหลุมเล็กๆ, เล็บหนาผิดรูปร่าง บางรายพบว่าเนื้อใต้เล็บมีจุดสีเหลือง และอาจพบเล็บเผยอ มักเป็นที่ปลายเล็บ พบว่าผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินประมาณร้อยละ 5–30 อาจพบโรคสะเก็ดเงินของข้อร่วมด้วย มักเป็นที่ข้อนิ้วส่วนปลาย

ดื่มเบียร์, อ้วน ทำให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบจริงหรือ ?

Q. ผมเป็นโรคสะเก็ดเงินมาตั้งแต่อายุยี่สิบต้นๆ ปัจจุบันอายุ 36 ปี ยังเป็นๆ หายๆอยู่ สังเกตว่าถ้าช่วงไหนดื่มจัด ผื่นสะเก็ดเงินจะกำเริบ คุณหมอที่ดูแลอยู่บอกว่าเบียร์และความอ้วนทำให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบได้ อยากขอข้อมูลในเรื่องนี้ครับ ?
รังสิต/ปทุมธานี

A. โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคผิวหนังเรื้อรัง ไม่ใช่โรคติดต่อ ผู้ป่วยต้องยอมรับความจริงว่าโรคนี้อาจเรื้อรังและพร้อมที่จะดำรงชีวิตอยู่ไปกับโรคสะเก็ดเงิน พบว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบ คือ ยา โดยเฉพาะ lithium บางครั้งพบว่า terbinafine, hydroxychloroquine หรือ chloroquine, หรือการหยุดยาสเตียรอยด์ ทำให้สะเก็ดเงินกำเริบได้, ความเครียด, การสูบบุหรี่, การดื่มแอลกอฮอส์, ความอ้วน และการติดเชื้อโรคเอดส์ (HIV) ทั้งหมดนี้จัดเป็นปัจจัยที่ทำให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบ
     ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาบางตัวที่กระตุ้นให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบ, ควรควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้อ้วนเกินไป, กินอาหารที่มีผักผลไม้สดสม่ำเสมอ, งด หรือลด การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์, ต้องหมั่นดูแลอย่าให้ผิวแห้งเกินไป อาจใช้ครีมให้ความชุ่มชื้น (moisturizer) หรือเครื่องเติมความชื้นในห้อง (humidifier) และอาจออกโดนแสงแดดบ้าง เพราะโรคสะเก็ดเงินมักมีอาการดีขึ้นเมื่อโดนแสงแดด ถ้าผื่นกำเริบมากควรพบแพทย์ และอย่าตั้งเป้าว่าจะต้องรักษาโรคสะเก็ดเงินให้หายขาด ยารักษาโรคสะเก็ดเงินบางตัวหากใช้ในระยะยาวอาจมีผลเสียต่อตับ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา และควรทำจิตใจให้สงบ เพราะพบว่าความเครียดมีส่วนทำให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบได้ครับ

วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ผมแตกปลาย การใช้เข็มแทงเพื่อแก้หลุมสิว

Healthy Skin Q & A
นิตยสาร HealthToday ฉบับมีนาคม 2554
เขียนโดยนายแพทย์ประวิตร พิศาลบุตร _______________________________________________________________________________________

ผมแตกปลาย การใช้เข็มแทงเพื่อแก้หลุมสิว

ผมแตกปลาย

Q. เป็นคนที่โคนผมค่อนข้างมันแต่ปลายผมแห้งแตกปลาย ไม่ทราบว่ามีวิธีการดูแลอย่างไรดีคะ ?
หมูอ้วน / ปทุมธานี
A. ผมแตกปลายเกิดเมื่อชั้นของเซลล์ของเส้นผมแตกแยกตัวออกจากกัน ไม่มีวิธีที่จะทำให้ชั้นที่แตกแยกออกจากกันนี้กลับมาสมานสนิทได้ถาวร ครีมนวดผม (conditioner) ทำให้เส้นผมที่แตกปลายกลับมาสมานกันได้เพียงชั่วคราวเพียงแค่ 2-3 ชั่วโมง หรืออย่างมากก็แค่ไม่กี่วัน โดยทั่วไปเมื่อสระผมครั้งต่อไปผมก็จะแตกปลายอีก จึงต้องใช้ครีมนวดผมอย่างสม่ำเสมอ คือใช้หลังสระผมแล้วชโลมครีมนวดผมทิ้งไว้สัก 10 นาทีแล้วล้างออก นอกจากนั้นหลังสระผมอย่าขยี้ผมแรงๆ ให้ใช้ผ้าขนหนูสะอาดซับผมให้แห้ง อย่าหวีผมหรือแปรงผมขณะที่ผมยังเปียกอยู่ ถ้าจะใช้เครื่องเป่าผมก็อย่าตั้งอุณหภูมิสูง เพราะจะทำลายเส้นผมทำให้ผมแตกปลายได้ง่ายขึ้น โดยทั่วไปเส้นผมของคนเราหลังตัดครบ 1 เดือนจะเริ่มยาวไม่สม่ำเสมอและมีผมแตกปลาย ดังนั้นการไปพบช่างตัดผมก็จะช่วยให้เรือนผมดูสวยงามอยู่เสมอ



    วิธีแก้ไขผมแตกปลายที่ดีที่สุดก็คือตัดส่วนปลายผมที่แตกปลายออก คนที่ไว้ผมสั้นจึงมีปัญหาเรื่องผมแตกปลายน้อยกว่าคนผมยาว พบว่าสารเคมีเป็นสาเหตุที่ทำให้เส้นผมหักได้บ่อยที่สุด ไม่ว่าจะจากยาย้อมผม ยากัดสีผม ยาดัดผม หรือยาเหยียดผม สารเคมีในตัวยาเหล่านี้ทำให้เส้นผมแห้งและแข็งกระด้าง จึงควรใช้น้ำยาเหล่านี้เมื่อจำเป็นและไม่ควรใช้บ่อยครั้ง

การใช้เข็มแทงเพื่อแก้หลุมสิว
Q. มีหลุมแผลเป็นสิวมาก อ่านมาว่ามีวิธีแก้ไขหลายแบบ แม้กระทั่งการใช้เข็มแทงก็แก้ไขหลุมแผลเป็นสิวได้ อยากถามเรื่องการแก้ไขแผลเป็นสิวครับ

วันศุกร์ / กรุงเทพฯ
A. การรักษาหลุมแผลเป็นสิวหรือแผลเป็นสิวชนิดนูนได้แก่ การทำเลเซ่อร์, การลอกผิวหนังด้วยสารเคมี, และการขัดหน้าด้วยหัวขัด, การฉีดสารเติมเต็ม, การผ่าตัด, และใช้เข็มแทง โดยเทคนิคที่กล่าวไปแล้วข้างต้นมักใช้ในแผลเป็นที่เป็นหลุม ส่วนการฉีดสเตียรอยด์นั้นจะใช้ในแผลเป็นสิวที่ผิวนูนหรือกลายเป็นคีลอยด์

   สำหรับการใช้เข็มแทงแก้ไขหลุมแผลเป็นสิวที่เอ่ยถึงนั้น เทคนิคนี้มีลำดับวิวัฒนาการคือ ในพ.ศ. 2538 มีรายงานการใช้เข็มแทงสอดใต้ผิวหนังเพื่อตัดแซะพังผืดที่ยึดหลุมแผลเป็นไว้เรียกว่า subcision, พ.ศ. 2540 มีรายงานการรักษาหลุมแผลเป็นโดยใช้เครื่องสักสักผิวหนังโดยไม่ใส่สีสำหรับสัก, ต่อมาในพ.ศ. 2549 มีรายงานเทคนิคใช้เข็มแทงผิวหนังด้วยเครื่องมือที่มีลักษณะเป็นลูกกลิ้งหนาม การใช้เข็มแทงสอดใต้ผิวหนังหรือ subcision จะใช้เข็มที่มีปลายลักษณะรูปหอกแทงเป็นมุมเข้าผิวหนังห่างแผลเป็น 1-2 ซม. แล้วเซาะแยกแผลเป็นที่เป็นพังผืดซึ่งยึดก้นหลุมสิวอยู่ จะมีเลือดสะสมและมีการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ขึ้นมาในรอยแยก ทำให้หลุมแผลเป็นค่อยๆ ตื้นขึ้น ปัจจุบันมีการใช้เครื่องมือที่เป็นลูกกลิ้งหนาม (dermaroller) รักษารอยแผลเป็นจากสิว การใช้ลูกกลิ้งหนามไถผิวหนังทำให้เกิดรูเล็กมากที่ชั้นนอกสุดของผิวหนังทำให้ยาซึมผ่านผิวได้มากขึ้น และยังทำให้เกิดการบาดเจ็บเล็กน้อยของชั้นหนังแท้เป็นการกระตุ้นให้มีการสร้างคอลลาเจนขึ้นใหม่ ทำให้รอยแผลเป็นสิวดูดีขึ้น เทคนิคนี้อาจพัฒนาไปสู่การให้วัคซีนทางผิวหนังและการรักษาทางพันธุกรรมอีกด้วย



    ส่วนการผ่าตัดเอาแผลเป็นสิวออก มักใช้ในแผลเป็นสิวที่เป็นรูลึกหรือเป็นหลุมรูปกล่อง อาจใช้เครื่องมือคล้ายปากกามีรูตรงปลายกดลงไปบนรอยแผลเป็นสิว ความคมจะตัดผิวออกเป็นวงกลมตามแนวรูเครื่องมือ ต้องเย็บแผล

   ส่วนการรักษารอยแดงรอยดำหลังเป็นสิว มีการใช้เลเซ่อร์และแสงเพื่อช่วยให้รอยสีผิวที่เปลี่ยนแปลงจากการเป็นสิวดีขึ้น โดยเฉพาะในรอยแดงที่มักพบในคนผิวขาว บางครั้งการรักษารอยแผลเป็นสิวที่เป็นหลุมค่อนข้างยาก จึงอาจอำพรางรอยแผลเป็นโดยการลดรอยแดงรอบแผลเป็น เพราะรอยแดงช่วยเน้นให้ดูว่าหลุมลึกขึ้นและมองเห็นชัดเจนขึ้น เมื่อรอยแดงลดลงแม้ว่าขนาดและความลึกของรอยแผลเป็นยังคงเดิม ก็ทำให้ดูว่ารอยแผลเป็นสิวไม่ค่อยเป็นที่น่าสังเกต ส่วนรอยดำหลังเป็นสิวมักเกิดในคนผิวคล้ำ การรักษารอยดำหลังที่ดีที่สุดคือเวลา เพราะจะค่อยๆ จางหายไปเอง บางครั้งแพทย์อาจให้ยาทาฟอกสีผิวร่วมไปด้วย จำเป็นต้องรักษาสิวที่ยังอักเสบให้หมดไปเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแผลเป็นสิวและรอยดำรอยแดงขึ้นมาใหม่ อีกทั้งต้องไม่บีบไม่แกะสิว เทคนิคการแก้ไขรอยแผลเป็นสิวทุกอย่างที่กล่าวมาส่วนใหญ่เพียงแค่ทำให้แผลเป็นดีขึ้นบ้าง แต่ไม่สามารถขจัดแผลเป็นทั้งหมดออกไปได้

วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2554

เด็กเล็กเป็นสิวได้ไหม ?

นิตยสาร หมอชาวบ้าน
คอลัมน์ ผิวสวย หน้าใส
มีนาคม ๒๕๕๔
ผู้เขียน นายแพทย์ประวิตร พิศาลบุตร


สารพันปัญหาเกี่ยวกับโรคสิว..............
เด็กเล็กเป็นสิวได้ไหม ?

____________________________________________________________________________________

เด็กเล็กเป็นสิวได้ไหม ?

   ทราบกันดีว่าสิวมักพบในเด็กวัยรุ่น แต่ที่จริงแล้วโรคสิวในเด็กพบได้ในทุกช่วงอายุของเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยรุ่น และมีลักษณะแตกต่างกันได้ดังนี้ครับ
1. สิวในเด็กแรกเกิด - พบได้ในทารกอายุ 2-3 สัปดาห์จนถึงเดือนแรกๆ หลังคลอด พบว่าสิวมีลักษณะเป็นตุ่มแดง และตุ่มหนอง ไม่ค่อยพบสิวอุดตัน (คือสิวหัวดำ, สิวหัวขาว)


2. สิวในทารก - พบในช่วงวัยทารกตอนปลาย (คืออายุหลายเดือนจนถึง 1 ขวบ) โดยพบลักษณะร่วมกันทั้งสิวหัวดำ, สิวหัวขาว, ตุ่มแดง, และตุ่มหนอง พบบ่อยที่แก้ม และพบในทารกเพศชายบ่อยกว่า

3. สิวในวัยเด็กตอนกลาง - พบในช่วงอายุ 1 ขวบครึ่งจนถึงอายุ 7 ขวบ พบสิวทั้งสิวหัวดำ, สิวหัวขาว, ตุ่มอักเสบแดง, และตุ่มหนอง สิวในวัยนี้พบได้น้อยมาก แต่ต้องให้ความสำคัญเพราะอาจมีความผิดปกติภายในร่างกายร่วมด้วย

4. สิวก่อนวัยรุ่น - พบในช่วงอายุ 8–11 ปี ลักษณะเฉพาะคือพบรอยโรคที่หน้าผาก, กึ่งกลางใบหน้า และพบว่ามีสิวอุดตันจำนวนมากเป็นลักษณะเด่น (ซึ่งไม่เหมือนสิวในวัยรุ่น) สิวชนิดนี้เริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น และอาจเป็นลักษณะที่พบนำมาก่อนที่จะพบลักษณะการเปลี่ยนแปลงของการเข้าสู่วัยรุ่นแบบอื่นๆ

5. สิวในวัยรุ่น - พบในช่วงอายุ 12–18 ปี โดยพบสิวได้ทุกชนิด ตั้งแต่สิวอุดตันหัวขาวหัวดำ จนถึงสิวอักเสบเรื้อรังเป็นถุงซิสต์ที่เรียกว่าสิวหัวช้างซึ่งอาจก่อแผลเป็นถาวร ผู้ปกครองต้องระวังผลกระทบต่อจิตใจของวัยรุ่นด้วย

สิวเป็นแค่เรื่องความงาม…หรือเป็นโรคผิวหนัง ?


   สิวมีผลต่อบุคลิกภาพจริงแต่ก็ไม่ค่อยก่ออันตรายร้ายแรงต่อร่างกาย จึงมักมองกันว่าสิวเป็นแค่เรื่องความงามเท่านั้น ทั้งที่จริงแล้วสิวจัดเป็นโรคผิวหนังอย่างหนึ่ง การใช้ยาทา, ยากินรักษาสิวมีข้อบ่งชี้แตกต่างกันไปขึ้นกับลักษณะและความรุนแรงของโรค ยาทา, ยากินรักษาสิวหลายขนานมีผลแทรกซ้อนได้จนถึงขั้นทำให้ทารกในครรภ์พิการ การรักษาสิวที่ไม่ถูกต้องจึงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากยาและทำให้เกิดแผลเป็นถาวรได้ ความเชื่อที่ว่าสิวเป็นเรื่องธรรมชาติไม่ต้องรักษาก็ได้จึงเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะสิวที่รุนแรงบางชนิดหากปล่อยให้หายเองจะทิ้งแผลเป็นอย่างมาก (physical scars) ซึ่งมีงานวิจัยชี้ว่าแผลเป็นทางร่างกายเหล่านี้จะส่งผลเสียทางจิตใจด้วย (psychological scar) มีงานวิจัยแสดงว่าโรคสิวก่อให้เกิดผลเสียทางด้านจิตใจต่อผู้ป่วยอย่างชัดเจน คือเมื่อตรวจสอบภาวะทางจิตใจโดยอาศัยจิตแพทย์และนักจิตวิทยาพบว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคสิวเรื้อรังร้อยละ 44 เกิดความกังวล และร้อยละ 18 มีอารมณ์ซึมเศร้า พบว่าสิวก่อให้เกิดผลเสียต่อจิตใจในหญิงมากกว่าชาย และยังพบว่าความกังวลและอารมณ์ซึมเศร้านี้อาจคงอยู่ได้นาน ยังมีงานวิจัยแสดงแนวโน้มว่าผู้เป็นสิวมีโอกาสตกงาน และไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งมากกว่าผู้ที่ไม่เป็นสิว

   พบว่าในผู้ป่วยหลายรายผลทางจิตใจไม่ได้ผันแปรตามความรุนแรงของสิว ในผู้ป่วยที่เคยเป็นสิวรุนแรงมากมาก่อนพอเริ่มเป็นสิวใหม่แม้จะเป็นเพียงเล็กน้อย ผู้ป่วยก็อาจกังวลใจมาก เนื่องจากกลัวว่าจะเป็นสิวรุนแรงขึ้นมาอีกและทำให้เกิดแผลเป็นถาวร ดังนั้นการรักษาโรคสิวจึงต้องคำนึงถึงความรุนแรงของรอยโรคสิว ควบคู่ไปกับผลต่อสภาพจิตใจผู้ป่วยด้วย

ยากินยาทารักษาสิวตัวใดที่ห้ามใช้ถ้าจะตั้งครรภ์ ?

   ยารักษาสิวที่จัดว่าปลอดภัยในกรณีที่ตั้งครรภ์ คือ ยาทาเบนซอยล์เปอร์ออกไซด์ หรือบีพี (BP, benzoyl peroxide), อิริโทรมัยซิน (erythromycin) ทั้งในรูปยาทา และยากิน, ยาทาคลินดามัยซิน (clindamycin), ยาทากรดอะเซเลอิค (azelaic acid)

   ยารักษาสิวที่ห้ามใช้ในสตรีที่มีโอกาสตั้งครรภ์ คือยากินไอโซเตรทติโนอิน (isotretinoin), ยากินกลุ่มเตตร้าซัยคลิน (tetracyclines) คือตัวเตตร้าซัยคลิน (tetracycline) เอง รวมถึงด็อกซี่ซัยคลิน (doxycycline) และมิโนซัยคลิน (minocycline), ยากินสไปโรโนแล็กโทน (spironolactone) ซึ่งเป็นยาต้านแอนโดรเจน (antiandrogens), และยาทากลุ่มกรดเรตินอยด์ (retinoids) ทั้งในรูปครีมและเจล ซึ่งยาทาเรตินอยด์ที่ใช้รักษาโรคสิวได้แก่ เตรทติโนอิน (tretinoin), ไอโซเตรทติโนอิน (isotretinoin), อะแดปพาลีน (adapalene), และแทซซาโรทีน (tazarotene)

สำหรับยากินรักษาสิวที่รู้จักกันดีในชื่อ ”ยาเม็ดรักบี้” เพราะลักษณะเม็ดยาเป็นแคปซูลลูกรักบี้สีม่วงสีชมพู คือยากินที่ชื่อไอโซเตรทติโนอิน (isotretinoin) ยาตัวนี้เป็นยารักษาสิวที่ทำให้เกิดทารกพิการ ในกรณีที่ผู้ป่วยกินยาตัวนี้แล้วสงสัยว่าตั้งครรภ์ต้องหยุดยาทันที ทดสอบการตั้งครรภ์ หากตั้งครรภ์จริงต้องแจ้งแพทย์ผู้สั่งจ่ายยาเพื่อการปรึกษาและส่งต่อสูตินรีแพทย์เพื่อพิจารณาการทำแท้ง ดังนั้นจึงห้ามไม่ให้ใช้ยาตัวนี้ในผู้หญิงที่คิดจะตั้งครรภ์หรือกำลังตั้งครรภ์อยู่ ต้องหยุดยาครบ 1 เดือนจึงตั้งครรภ์ได้โดยปลอดภัย, ต้องไม่ให้ยานี้ขณะให้นมบุตร, ต้องไม่บริจาคโลหิตระหว่างรับยา, ไม่นำยาไปแจกจ่ายผู้อื่น และต้องใช้ยาภายใต้การดูแลของแพทย์โดยเคร่งครัดเท่านั้น ยาตัวนี้ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ผิวหนังเพื่อความปลอดภัย และเป็นที่น่าวิตกว่าในประเทศไทยสามารถหาซื้อยานี้ได้ทั่วไปโดยไม่ผ่านแพทย์ _____________________________________________________________________________________

วันพุธที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2554

Acne FAQs (สาระพันปัญหาสิวสิว)

Healthy Skin Q & A
HealthToday มกราคม 2554
เขียนโดย นายแพทย์ประวิตร พิศาลบุตร


Acne FAQs
(สาระพันปัญหาสิวสิว)

________________________________________________________________________________________

   สวัสดีปีใหม่ พ.ศ. 2554 ครับ.....ฉบับนี้ขอเริ่มด้วยปัญหาที่พบบ่อยๆ เกี่ยวกับเรื่องของโรคสิว ที่จัดว่าเป็นโรคผิวหนังที่พบบ่อยที่สุดโรคหนึ่ง และปัจจุบันยังถือว่าเป็นโรคเรื้อรังที่มีผลต่อร่างกายและจิตใจอีกด้วยนะครับ

สิวเป็นโรคเรื้อรังหรือไม่ ?

Q. ทำไมเวลารักษาสิวมักต้องต่อเนื่องกันนาน สิวเป็น “โรคเรื้อรัง” หรือคะ ?
กนกลดา / เชียงใหม่

A. การรักษาสิว โดยเฉพาะสิวชนิดที่มีการอักเสบมาก หรือสิวหัวช้าง มักกินเวลาต่อเนื่องกันนานจริงๆ ครับ และปัจจุบันแพทย์จัดว่าสิวเป็นโรคเรื้อรังเพราะ ๐ สิวมักเกิดในช่วงวัยรุ่นซึ่งเป็นช่วงที่มักมีความเครียดทางจิตใจมากอยู่แล้ว และมักเป็นอยู่นานหลายปี หลายคนเป็นสิวจนถึงอายุ 30 กว่าๆ ๐ โรคสิวมักกำเริบเป็นระยะๆ ๐ การเป็นสิวยังส่งผลเสียต่อจิตใจและสังคม ๐ การไม่ให้ความสำคัญกับการเป็นสิว หรือคิดว่าสิวเป็นเรื่องธรรมชาติเป็นแล้วก็หายเองได้ ในกรณีที่สิวเป็นมากอาจก่อผลแทรกซ้อน เช่น ทำให้เกิดแผลเป็นถาวร และรอยด่างดำได้ ๐ ในปัจจุบันมีแนวทางการรักษาสิวที่มีประสิทธิภาพสูงหลายวิธี แต่ส่วนใหญ่แล้วการรักษาสิวจะกินเวลานานหลายเดือนหรือเป็นปีๆ
   สิวที่ไม่ได้ดูแลรักษาอย่างถูกต้องอาจทำให้เกิดแผลเป็นทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทำให้ผู้ป่วยขาดความมั่นใจ ซึมเศร้า และกระวนกระวาย ทั้งยังมีงานวิจัยแสดงว่า ผู้เป็นสิวมีโอกาสตกงาน และไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งมากกว่าผู้ที่ไม่เป็นสิวด้วย




รักษาสิว...ต้องไปพบหมอบ่อยแค่ไหน ?

Q. หากจะไปหาหมอเพื่อรักษาสิวแล้ว หมอจะนัดมาตรวจบ่อยแค่ไหนครับ ?
ฉันทิศ / กรุงเทพ ฯ

A. โดยทั่วไปแพทย์จะติดตามผลการรักษาผู้ป่วยโรคสิวโดย

๐ นัดผู้ป่วยมาตรวจซ้ำครั้งแรกใน 1- 4 สัปดาห์ เพื่อสอบถามถึงวิธีการใช้ยา และผลข้างเคียง

๐ ต่อไปอาจนัดผู้ป่วยทุก 1- 3 เดือน เพื่อปรับขนาดยา

๐ ดูผลการรักษาหลังรักษาอย่างต่อเนื่องกันแล้วอย่างน้อย 4 - 6 สัปดาห์ขึ้นไป ถ้าไม่ได้ผลหรือเลวลงจึงจะพิจารณาเปลี่ยนยา

๐ หลังจากสิวยุบหมดแล้ว แพทย์อาจให้ผู้ป่วยใช้ยาทาคุมสิวไว้จนกว่าจะพ้นวัยที่เป็นสิว


รักษาสิว...จะถูกเจาะเลือดไหม ?

Q. ไปหาหมอรักษาสิวแล้วจะถูกเจาะเลือด หรือส่งมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือไม่ครับ ?
คมธรรม / นนทบุรี



A. โดยทั่วไปในการรักษาสิวหมอจะไม่ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ยกเว้นในรายที่สงสัยว่าจะเป็น

๐ โรคสิวที่เกิดจากความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ เช่น ผู้หญิงที่ขนดกดำ อ้วน ประจำเดือนผิดปกติเป็นประจำ, เสียงห้าว, และมีศีรษะล้านแบบผู้ชาย กรณีนี้หมอผิวหนังอาจส่งผู้ป่วยให้ผู้เชี่ยวชาญทางนรีเวช และต่อมไร้ท่อร่วมดูแลด้วย

๐ โรคสิวจากเชื้อแบคทีเรียกรัมลบ โดยทำการเพาะเชื้อ

๐ โรคสิวจากเชื้อยีสต์ หรือโรคสิวอักเสบที่ต้องการระบุชนิดของเชื้อ โดยทำย้อมดูเชื้อจากหนอง หรือส่งหนองไปเพาะเชื้อ

๐ รอยโรคที่คล้ายสิว เช่น เนื้องอกของผิวหนังที่ใบหน้าบางอย่าง แพทย์อาจต้องขอตัดชิ้นเนื้อ (biopsy) เพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา

   นอกจากนั้นในผู้ป่วยที่ได้รับยากินกลุ่มกรดวิตามินเอ (isotretinoin) ที่แพทย์มักใช้เป็นยาตัวแรกสำหรับการรักษาสิวหัวช้าง และยังอาจใช้ในโรคสิวชนิดอื่นอีกคือใช้ใน โรคสิวที่ไม่ตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะ, โรคสิวที่ก่อให้เกิดแผลเป็น, โรคสิวที่มีความผิดปกติทางจิตใจร่วมด้วย เช่น ซึมเศร้าอย่างมากแม้ว่ารอยโรคสิวจะเป็นไม่มากนัก, โรคสิวที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียกรัมลบ, โรคสิวที่ทำให้หน้าแดง ซึ่งอาจมีจมูกโตผิดรูปร่าง, โรคสิวที่ลุกลามอย่างรวดเร็ว มีไข้และปวดข้อร่วมด้วย, และโรคสิวเรื้อรังที่รักแร้ (hidradenitis suppurativa). ซึ่งการใช้ยารักษาสิวที่ชื่อ isotretinoin นี้ ต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการคือ การทดสอบการตั้งครรภ์ 1 สัปดาห์ก่อนเริ่มให้ยา, หลังจากนั้นทุกเดือน (อาจแทนด้วยการซักประวัติการใช้ยาคุมกำเนิด, ประจำเดือน), ควรใช้วิธีคุมกำเนิด 2 อย่าง (เช่น ยาคุม และ ถุงยางอนามัย ) และต้องหยุดยาครบ 1 เดือนจึงเริ่มตั้งครรภ์ได้, ต้องตรวจหาระดับไขมัน และตรวจการทำงานของตับก่อนเริ่มให้ยา, หลังจากนั้นทุก 1 – 2 สัปดาห์ จนกระทั่งระดับไขมัน และระดับยาคงที่

โรคผิวหนังในพระไตรปิฎก

วิชัยยุทธจุลสาร
ฉบับพฤษภาคม – สิงหาคม 2554


โรคผิวหนังในพระไตรปิฎก

นายแพทย์ประวิตร พิศาลบุตร
แพทยศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
Diplomate, American Board of Dermatology & Dermatological Immunology
บรรณาธิการตำราโรคผิวหนังในเวชปฏิบัติปัจจุบัน ____________________________________________________________________________________

   เมื่อไม่นานมานี้ผมได้อ่านข้อเขียนของท่านนายพลเรือพัฒนพงศ์ พ่วงลาภหลาย ใน ต่วย’ตูน ปักษ์หลัง-ตุลาคม 2553 เรื่อง “สำราญกับละลอกคลื่น” ท่านเปิดต้นเรื่องว่า “ในภาษาไทยมีคำเรียกลักษณะที่ไม่เรียบของน้ำว่า “คลื่น” อยู่คำเดียวเท่านั้น ลักษณะนามของคลื่นคือ ลูก การเคลื่อนที่ของน้ำเป็นแนวยาวซ้อนๆ กันหลายชั้นเรียกว่า “ละลอกคลื่น” ซึ่งอย่าได้เอาไปเกี่ยวข้องกับคำว่า ละลอก หรือ ระลอก ที่หมายถึงโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่มีหนองเป็นอันขาด ต่างเรื่องต่างราวกันมากเลยเชียว....” ถึงตอนนี้ผมเลยเกิดความสงสัยขึ้นมาเลยครับว่า ทำไมผมไม่รู้จักว่าโรคละลอกคือโรคผิวหนังอะไรกันครับ ? .....

   เมื่อไปค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับโรคละลอก จึงได้ทราบว่าโรคละลอกนั้นไม่ใช่โรคใหม่ แต่เป็นโรคเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ขออ้างอิงตำราเรียนกระบวนวิชา GB 406 “สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก” บทที่ 11 “แพทยศาสตร์ในพระไตรปิฎก” หัวข้อ “โรคชนิดต่างๆ ในพระไตรปิฎก” ท่านบรรยายว่า… “คำว่า "โรค" พระอรรถกถาจารย์ให้ความหมายไว้ว่า เสียดแทง หรือเบียดเบียน กล่าวคือเสียดแทงเบียนเบียนร่างกายและจิตใจให้ลำบาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า แต่ก่อนมีโรคร้ายอยู่เพียง 3 ชนิดคือ โรคอยาก โรคหิว และโรคชรา แต่เพราะการทำร้ายเบียดเบียนสัตว์ จึงทำให้มีโรคเพิ่มขึ้นถึง 98 ชนิด โรคทั้ง 98 ชนิดนี้คือโรคที่มีอยู่ในสมัยพุทธกาล แต่ในปัจจุบันมีโรคเพิ่มมากขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก ดังจะเห็นได้ว่าทุกวันนี้มีโรคแปลกๆ ใหม่ๆ และร้ายแรงเกิดขึ้นเรื่อยๆ เช่น โรคเอดส์ โรคไข้หวัดนก โรคซาร์ และล่าสุดคือโรคไข้กระต่าย...”

.... “อย่างไรก็ตามโรคที่มีอยู่ในสมัยพุทธกาลเท่าที่ปรากฎอยู่ในพระไตรปิฎกสามารถแบ่งเป็นกลุ่มได้ประมาณ 6 กลุ่มคือ โรคผิวหนัง โรคลม โรคในท้อง โรคเกี่ยวกับอวัยวะ โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ และโรคเบ็ดเตล็ดอื่นๆ

   โรคผิวหนังหมายถึงโรคที่เกิดบนผิวหนังในบริเวณต่างๆ ของร่างกายเช่น โรคเรื้อน โรคฝี โรคฝีดาษ โรคสิว โรคกลาก โรคเริม โรคพุพอง โรคหิดเปื่อย โรคหิดด้าน โรคละลอก โรคหูด โรคคุดทะราด และโรคคุดทะราดบวม เป็นต้น

โรคเรื้อน หมายถึงโรคผิวหนังชนิดหนึ่งซึ่งติดต่อได้ ทำให้ผิวหนังเป็นผื่น มีหลายชนิดบางชนิดทำให้นิ้วมือนิ้วเท้ากุดเรียกว่า เรื้อนกุฏฐัง บางชนิดมีลักษณะเป็นผื่นคันทำให้ผิวหนังหนาหยาบ และอาจแตกมีน้ำเหลืองไหลหรือตกสะเก็ดในระยะหลัง มักเป็นตามบริเวณข้อเท้าหัวเข่าหรือที่มือเอื้อมไปเกาถึง เรียกว่า เรื้อนกวาง บางชนิดแผลมีสีขาวเรียกว่า เรื้อนน้ำเต้า

โรคฝี หมายถึงโรคชนิดหนึ่งเป็นต่อมบวมขึ้น กลัดหนองข้างใน เรียกชื่อต่างๆ กันหลายชนิดเช่น ฝีคัณฑมาลา ฝีดาษ ฝีประคำร้อย

โรคฝีดาษ หมายถึงโรคฝีชนิดหนึ่ง มักเกิดขึ้นตามลำตัว เป็นเม็ดเล็กๆ ดาษทั่วไป บางครั้งเรียก ไข้ทรพิษ คนโบราณเรียกว่า ไข้หัว

โรคสิว หมายถึงโรคที่มีลักษณะเป็นตุ่มเม็ดเล็กๆ ที่มีหนองเป็นไตสีขาวๆ อยู่ข้างใน ขึ้นบริเวณใบหน้า และส่วนต่างๆ ของลำตัว

โรคกลาก หมายถึงโรคผิวหนังชนิดหนึ่งเกิดจากเชื้อรา ขึ้นเป็นวง มีอาการคัน

โรคเริม หมายถึงโรคติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งขึ้นเป็นเม็ดเล็กๆ พองใสติดกันเป็นกลุ่ม มีอาการคัน ปวดแสบปวดร้อน

โรคพุพอง หมายถึงโรคผิวหนังชนิดหนึ่งเป็นเม็ดผุดขึ้นพองใสตามลำตัว แล้วแตกออกมีน้ำเหลืองหรือน้ำเลือดน้ำหนอง

โรคหิด หมายถึงโรคติดต่อชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นเม็ดสีขาวใสเป็นเงาในเนื้อ ขึ้นตามผิวหนังมีอาการปวดและคัน เรียกว่า หิดด้าน เมื่อเม็ดแตกมีน้ำหนองไหลเยิ้มเรียกว่า หิดเปื่อย

โรคละลอก หมายถึงโรคผิวหนังชนิดหนึ่งเป็นเม็ดมีหนอง

โรคหูด หมายถึงโรคผิวหนังชนิดหนึ่งขึ้นเป็นไตแข็ง

โรคคุดทะราด หมายถึงการเป็นแผลเรื้อรัง บางรายแผลบานเหวอะหวะออก มีกลิ่นเหม็น เป็นแม่แผลให้เกิดแผลอื่นจำพวกเดียวกันพุพองออกไปอีก”……….

   ตำราเรียนเล่มนี้ทำให้ผมทราบว่าโรคละลอกเป็นโรคผิวหนังที่มีอยู่จริง และมีมาตั้งแต่ครั้งสมัยพุทธกาลแล้วด้วยครับ

   สมัยเป็นเด็กนักเรียนจำได้ว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราช.....มหาราชผู้กอบกู้อิสรภาพให้ชาติไทย ท่านเสด็จสวรรคตด้วยพระยอดพิษขึ้นที่พระนลาฏ คือเป็นฝีอักเสบมากที่หน้าผาก ดังพงศาวดารจารึกว่า “เมื่อปี พ.ศ. 2147 สมเด็จพระนเรศวรทรงยกทัพไปต่อสู้กับพระเจ้าอังวะ ทรงตั้งค่ายที่เมืองหาง และทรงพระประชวรเป็นพระยอดพิษที่พระนลาฏ จนถึงเสด็จสวรรคตที่เมืองหาง เมื่อวันจันทร์ เดือน 6 ขึ้น 8 ค่ำ ปีมะเส็ง พระชันษา 50 พรรษา รวมเวลาเสวยราชสมบัติเป็นเวลา 15 ปี”……..
แต่ต่อมาพอเป็นหมอผิวหนัง ก็เปลี่ยนมาเชื่อว่าท่านอาจสวรรคตด้วยทรงเป็นสิวหัวช้าง (nodulocystic acne) และอาจจะเพราะทรงแกะสิว หรือสิวแตกเอง แล้วเชื้อแบคทีเรียลุกลามตามเส้นเลือดดำใบหน้า เข้าไปสู่เส้นเลือดดำที่อยู่ใต้สมอง จนเกิดการอักเสบของเส้นเลือดดำที่ใต้สมองที่เรียกว่า cavernous sinus thrombosis ทำให้เกิดอาการตามัว หรืออาจตาบอด ปวดศีรษะ ดวงตาโปนเหมือนจะถลน ใบหน้าบวมเป่ง ใบหน้าเป็นอัมพาต....คงเคยเป็นแผลติดเชื้อ หรือเป็นฝีที่แขนขา หรือที่ก้น กันมาแล้วนะครับ สมัยเด็กๆ จำได้ว่าผมเกลียดเจ้าฝีที่ก้นนี้นัก เป็นทีไรนั่งเรียนไม่เป็นสุขเลย....พอมีการติดเชื้อเกิดการอักเสบจะเกิดอาการบวม แดง ร้อน ตามมา แต่พอไปเกิดการอักเสบที่หย่อมเส้นเลือดนี้ที่อยู่ใต้สมองเนี่ย มันจะเพิ่มความดันในสมองครับ เพราะสมองถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่แคบๆ เมื่อเกิดก้อนบวมโตในสมอง ก้อนนี้ก็จะไปกดศูนย์กลางการทำงานในสมองที่จำเป็นในชีวิตคือ ศูนย์เมตาบอลิซึมคือต่อมปิจูตารี่ (pituitary), ศูนย์อารมณ์คือไฮโปทาลามัส (hypothalamus) และศูนย์หายใจคือก้านสมอง (brainstem)

   จึงต้องพร่ำเตือนกันว่าอย่าแกะสิวเลยครับ นอกจากจะเสี่ยงชีวิตแล้วยังเกิด “หน้าเพรียง” ได้ เรื่องหน้าเพรียงขอเก็บไว้คุยกันตอนท้ายนะครับ พ.ญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ เขียนในนิตยสารใกล้หมอ ฉบับมิถุนายน 2547 ว่า เคยผ่าศพผู้ที่เป็นฝีในสมองจนถึงแก่กรรม เพราะเป็นสิวและไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้อง......สาเหตุการเกิดฝีในสมองแบบนี้นอกจากเกิดจากสิว (ภาพที่ 1) 

- จากฝีที่ใบหน้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่หน้าผากแล้ว ยังอาจเกิดจากการติดเชื้อที่ฟัน ที่ต่อมทอนซิล ที่ในรูหู รูจมูกก็ได้ครับ ที่จริงแล้วโรค cavernous sinus thrombosis เนี่ย พบได้น้อยมากๆ นะครับ มีรายงานการแพทย์ทั่วโลกว่า พบผู้ป่วยโรคนี้ทั้งหมดในโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันแค่ 200-300 รายเท่านั้น และส่วนใหญ่ก็พบในยุคก่อนที่จะค้นพบยาปฏิชีวนะครับ แต่ถึงพบน้อยมากก็น่าสยดสยองสุดๆ เพราะในยุคก่อนที่จะมียาปฏิชีวนะดีๆ ใช้นี่ ใครเป็นโรคนี้ก็จองวัดจองเมรุได้เลยครับ เพราะอัตราตายคือร้อยละ 100 ถึงในยุคปัจจุบันที่ว่ามียาดีๆ ใหม่ๆ มากมาย อัตราตายก็ยังถึงร้อยละ 30 ครับ..........

   เมื่อยังไม่ทราบรายละเอียดของโรคละลอก ทำให้ต้องไปหาข้อมูลมาเพิ่ม ก็เลยได้มุมมองใหม่ๆ มาว่า บางที่กล่าวว่า “สมเด็จพระนเรศวรมหาราชท่านเสด็จสวรรคตด้วยพระโรคละลอก” ครับ  บางตำราระบุว่า “สมเด็จพระนเรศวรทรงพระประชวรเป็นหัวละลอกขึ้นที่พระพักตร์ แล้วกลายเป็นบาดทะพิษพระอาการหนัก จึงโปรดให้ข้าหลวงรีบไปเชิญเสด็จสมเด็จพระเอกาทศรถมาเฝ้า สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จฯ มาถึงได้ 3 วัน สมเด็จพระนเรศวรก็เสด็จสวรรคต.....” คำว่าละลอกหรือระลอกนี้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ระบุว่าเป็นคำนาม แปลว่าชื่อโรคชนิดหนึ่ง พองเป็นหัวเล็ก ๆ คล้ายฝี ส่วนคำว่าบาดทะพิษ แปลว่า แผลที่ตัวเชื้อโรค Streptococci เข้าไปทําให้เลือดเป็นพิษ จึงน่าจะเข้าได้กับข้อมูลดั้งเดิมที่เคยเรียนรู้สมัยยังเด็กว่าท่านสวรรคตด้วยเป็นฝี หรือสิวหัวช้าง และเชื้อลุกลามตามเส้นเลือดดำเข้าสู่สมอง แต่ก็มีบางท่านสันนิษฐานว่าพระองค์ท่านอาจเป็นโรคไฟลามทุ่งที่ศัพท์แพทย์เรียกว่า erysipelas (ภาพที่ 2)


- สมัยก่อนโรคไฟลามทุ่งนี้มักเป็นที่ใบหน้า และเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ Streptococcus pyogenes ครับ แต่ยุคสมัยปัจจุบันนี้โรคนี้มักเป็นที่ขา และอาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ non–group A streptococci โรคนี้จะมีผิวหนังอักเสบบวมแดงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วสมชื่อไฟลามทุ่งเลยล่ะครับ......

   และยังมีบางตำนานที่เชื่อว่าท่านเสด็จสวรรคตเพราะโดนผึ้งต่อย หากเป็นจากผึ้งต่อยก็จะเป็นการสวรรคตจากการแพ้อย่างรุนแรง จนหมดพระสติหรือ shock ไปนั่นเองครับ นอกจากผึ้งแล้ว ต่อและแตนก็ทำให้แพ้อย่างรุนแรงจนเสียชีวิตได้เช่นกันครับ และก็ขอสันนิษฐานเพิ่มเติมว่า คำว่าโรคละลอกนี่ น่าจะหมายรวมถึงโรคเริมและโรคงูสวัดก็ได้ ปกติโรคเริมและโรคงูสวัดจะเป็นหย่อมของตุ่มน้ำใสๆ (ภาพที่ 3 และ 4)


- แต่บางทีมีการติดเชื้อแบคทีแทรกซ้อน ก็อาจเป็นตุ่มหนองได้ ทั้งโรคเริมและโรคงูสวัดที่เกิดจากเชื้อไวรัสนี้อาจเข้าสมองทำให้สมองอักเสบจนถึงขั้นเสียชีวิตได้เช่นกันครับ

   เคยมีผู้ป่วยหญิงวัยราว 30 ปีมาพบผม เธอรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวมาวันสองวัน และเริ่มมีตุ่มน้ำใสเล็กๆ ขึ้นที่หลัง 2-3 ตุ่ม เมื่อราว 2 สัปดาห์ก่อนคุณแม่ของเธอมีผื่นแดง และตุ่มน้ำใสขึ้นที่ใบหน้า มีอาการปวดมาก ไปพบแพทย์แผนโบราณซึ่งให้การวินิจฉัยว่าเป็นโรคขยุ้มตีนหมา จึงทำให้ผมปะติดปะต่อเรื่องราวได้ว่า อาการตุ่มน้ำใสและปวดของคุณแม่เธอนั้นน่าจะเป็นอาการของโรคงูสวัด ซึ่งโรคงูสวัดและอีสุกอีใสนั้นเกิดจากเชื้อไวรัสตัวเดียวกัน ในการติดเชื้อไวรัสตัวนี้ครั้งแรกจะแสดงอาการออกมาในรูปของอีสุกอีใส เมื่ออีสุกอีใสหายแล้ว เชื้อไวรัสต้นเหตุจะเคลื่อนไปอยู่ที่เส้นประสาท หลบซ่อนตัวอยู่ วันดีคืนดีจึงแผลงฤทธิ์ออกมาทำให้เกิดโรคงูสวัดขึ้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายของคำว่าขยุ้มตีนหมา คือชื่อโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง มีพิษอักเสบออกเป็นเม็ดผื่นดวงๆ, งูสวัด คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง มีอาการอักเสบอย่างเฉียบพลันที่ปมประสาทไขสันหลัง และพุเป็นเม็ดพองตามผิวหนังเป็นทางยาวพาดขวางลำตัว เป็นต้น ทำให้ปวดแสบปวดร้อน, และ อีสุกอีใส คือ ชื่อโรคชนิดหนึ่งเกิดตามผิวหนัง เป็นเม็ดพองใสๆ ขึ้นตามตัว............ ผมคิดว่า ขยุ้มตีนหมา คงเป็นคำรวมๆ ซึ่งงูสวัดก็อาจแสดงอาการแบบนี้ออกมาได้ ในกรณีนี้ก็คือผู้ป่วยรายนี้เธอได้รับเชื้อไวรัสอีสุกอีใสจากคุณแม่ที่เป็นงูสวัด สำหรับเธอแล้วเป็นการติดเชื้อครั้งแรกจึงแสดงอาการออกมาในรูปของอีสุกอีใส แต่ถ้าเธอหายจากอีสุกอีใสแล้ว อีกหลายๆ ปีเธอมีตุ่มน้ำขึ้นเป็นแนวยาวพร้อมอาการเจ็บปวด นั่นอาจหมายถึงเธอเป็นงูสวัดจากเชื้ออีสุกอีใสที่ยังแฝงอยู่ในตัวเธอนั่นแหละครับ

   เรื่องโรคละลอกยังไม่จบแค่นี้ครับ ผมไปค้นเจอเพิ่มเติมในเวบไซด์ของนิตยสารสารคดี (www.sarakadee.com) ระบุว่าในพระราชพงศาวดารสมัยกรุงศรีอยุธยาได้บันทึกไว้ว่า “สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 หน่อพุทธางกูร และสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ประชวรด้วยไข้ทรพิษเสด็จสวรรคตทั้งสองพระองค์......ข้อมูลนี้ทำให้ตอนนี้ผมเห็นด้วยว่า ถ้าจะสันนิษฐานกันแล้ว สมเด็จพระนเรศวรมหาราชน่าจะเสด็จสวรรคตจากการประชวรด้วยไข้ทรพิษมากกว่าจากโรคอื่นๆ เพราะโรคไข้ทรพิษในสมัยนั้นพบบ่อยมากครับ

   ผมจึงขออนุญาตขยายความตรงนี้หน่อยนะครับ โรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ ภาษาอังกฤษเรียกว่า smallpox เป็นโรคที่มีมาแต่ครั้งดึกดำบรรพ์ เชื่อว่าเริ่มพบในคนเราตั้งแต่ยุค 10,000 ปีก่อนคริสตกาล มีคนหลายล้านคนทั่วโลกที่เสียชีวิตจากโรคนี้ เฉพาะในช่วงคริสตศตวรรษที่ 20 (คำว่าคริสตศตวรรษที่ 20 เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1901 และจบลงในวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ. 2000) เชื่อว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคฝีดาษ 300-500 ล้านคน ผู้เชี่ยวชาญบางท่านกล่าวว่า จำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคฝีดาษมีจำนวนมากกว่าผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคติดเชื้อทุกชนิดรวมกันเสียอีกครับ ประวัติศาสตร์ยังจารึกว่าโรคฝีดาษได้คร่าชีวิตราชวงศ์หลายพระองค์ คือ ราชินี Mary ที่ 2 แห่งอังกฤษ, จักรพรรดิ Joseph ที่ 1 แห่งออสเตรีย, กษัตริย์ Luis ที่ 1 แห่งสเปน, ซาร์ Peter ที่ 2แห่งรัสเซีย, ราชินี Ulrika Elenora แห่งสวีเดน, และพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แห่งฝรั่งเศส จนแม้กระทั่งสมเด็จพระบรมราชาที่ 4 หน่อพุทธางกูร และสมเด็จพระนเรศวรมหาราชของชาวไทย พบว่าผู้ป่วยโรคฝีดาษร้อยละ 30 จะเสียชีวิต และร้อยละ 65-80 จะเกิดแผลเป็นหลุมบ่อขนาดลึกตามผิวหนัง และมักเป็นเด่นชัดที่ใบหน้า..........

   ทำให้นึกขึ้นได้ว่าเคยอ่านเรื่อง “คนอัปลักษณ์” ของ อาจารย์ดร.ญาดา อรุณเวช อารัมภีร ใน “ต่วย’ตูน” ปักษ์หลัง กุมภาพันธ์ 2553 อาจารย์เขียนว่า.....แค่วรรคแรก จรกาก็เสียคะแนนไปแล้ว หาความงามสักนิดก็ไม่มี เพราะ ‘หน้าเพรียง’ ก็คือใบหน้าปรุเป็นรอยพรุนจาก ‘โรคฝีดาษ’ โรคดึกดำบรรพ์ที่ยังมีอยู่จนทุกวันนี้.....” นับว่าจรกาเป็นผู้โชคดีที่รอดชีวิตจากโรคนี้ แต่โชคร้ายที่เกิดแผลเป็นที่ใบหน้าจนอาจารย์ญาดาท่านจัดให้เป็นคนอัปลักษณ์ ในปีค.ศ. 1967 องค์การอนามัยโลกได้รณรงค์ให้ปลูกฝีเพื่อสกัดกั้นโรคนี้อย่างเต็มที่จนสามารถขจัดโรคฝีดาษให้หมดไปได้ ขณะนี้จึงจัดว่าโรคฝีดาษเป็นโรคติดเชื้อเพียงอย่างเดียวที่มนุษยชาติสามารถเอาชนะ คือกำจัดมันได้อย่างสิ้นซาก ผู้ป่วยคนสุดท้ายที่เป็นฝีดาษ (ที่เกิดในธรรมชาติ) พบที่ประเทศโซมาเลียเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ. 1977 คือ Ali Moallin ซึ่งรอดชีวิตแต่ก็มี ‘หน้าเพรียง’ เช่นเดียวกับจรกา แต่เป็นที่น่าเสียใจว่าเกิดอุบัติเหตุในห้องทดลองในสหราชอาณาจักรในค.ศ. 1978 ทำให้ช่างภาพทางการแพทย์ชื่อ Janet Parker ติดเชื้อโรคฝีดาษและเสียชีวิต กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำที่ศึกษาโรคนี้ได้ประชุมกันในเดือนธันวาคม ค.ศ.1979 และสรุปว่าโรคฝีดาษหมดจากโลกแล้ว และในปีต่อมาคือค.ศ. 1980 World Health Assembly ได้ยืนยันและรับรองว่าโรคฝีดาษสูญพันธุ์จากโลกไปแล้ว และได้ยกเลิกการปลูกฝีเพื่อป้องกันไข้ทรพิษ อย่างไรก็ตามยังมีห้องปฏิบัติการอยู่ 2 แห่งที่ยังเก็บตัวอย่างปริมาณเล็กน้อยของเชื้อตัวนี้ไว้ และเป็นที่เกรงกันว่าอาจเกิดการก่อการร้ายด้วยสารชีวภาพโดยอาศัยเชื้อตัวนี้ครับ สำหรับในไทยมีบันทึกว่าฝีดาษระบาดครั้งสุดท้ายปี พ.ศ. 2504 กระทรวงสาธารณสุขของไทยได้ยกเลิกการปลูกฝีแก่ชาวบ้านทั่วไปตั้งแต่ ธันวาคม พ.ศ. 2522 ..... สรุปว่า โรคฝีดาษเป็นดึกดำบรรพ์ที่ยังมีอยู่จนทุกวันนี้ แต่ตอนนี้เชื้อมีอยู่แค่ในห้องทดลองที่เก็บตัวอย่างเชื้อไว้วิจัยเท่านั้นครับ

   อาจารย์ญาดาท่านเขียนไว้ว่า... “คำว่า ‘หน้าเพรียง’ สมัยนี้ไม่มีใครนึกออก แต่ถ้าบอกว่า ‘หน้าข้าวตัง’ คงร้องอ๋อ ถึงไม่ใช่ก็ใกล้เคียงแหละน่า เพราะ ‘หน้าข้าวตัง’ อาจเกิดจากมีสิวมากแล้วเจ้าของใบหน้าเอามือไปบีบเคล้นแกะเกาอย่างเมามันก็เลยมีผิวหน้าเป็นรูๆ หลุมๆ คล้าย’หน้าเพรียง’ เพราะฝีดาษอย่างไรอย่างนั้น .....” ท่อนนี้เห็นด้วยกับอาจารย์ 100 เปอร์เซ็นต์ครับ แต่ในฐานะหมอผิวหนังอยากฝากข้อมูลว่า โรคสิวนั้นนอกจากก่อความเจ็บป่วยทางร่างกายแล้วยังส่งผลต่ออาชีพการงาน ผู้เป็นสิวเวลาไปสัมภาษณ์งานมักไม่ได้รับเลือก ก็กรรมการเขามีเวลาสัมภาษณ์กันคนละไม่กี่นาทีนี่ครับ เขาก็เลยต้องดูรูปลักษณ์ภายนอกจะให้เหมือนอย่างนางรจนาที่มองทะลุรูปเงาะไปเห็นรูปทองของพระสังข์นั้นคงลำบากนะครับ นอกจากนั้นในกลุ่มผู้เป็นสิวและมีหน้าข้าวตังเนี่ย เมื่อถึงพิจารณาเลื่อนขั้นให้ความดีความชอบก็มักถูกมองข้ามไปครับ คือคนที่หน้าเกลี้ยงเกลาจะได้รับการเลื่อนตำแหน่งมากกว่า สรุปว่า ’หน้าเพรียง’ จากฝีดาษในอดีต มาจนถึง ‘หน้าข้าวตัง’ ในปัจจุบันต่างก็ยังไม่เป็นที่นิยมกันนะครับ..........

   ในตอนต้นได้กล่าวว่ามีโรคอุบัติใหม่ที่ชื่อโรคไข้กระต่ายนั้น เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2551 พบโรคไข้กระต่ายรายแรกของประเทศไทยที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผู้เสียชีวิตดังกล่าวเป็นเพศหญิงอายุ 37 ปี โดยติดเชื้อแบคทีเรียบาซิลัสที่ชื่อว่า ฟรานซิเซลล่า ทูลารีซิส (Francisella tularensis) โรคนี้มีอาการเหมือนโรคกาฬโรคคือ ต่อมน้ำเหลืองโต มีไข้สูง มีน้ำมูก และมีอาการท้องเสียร่วมด้วย โรคนี้สามารถติดจากสัตว์ไปสู่คนได้ โดยสัตว์รังโรคคือสัตว์ป่าที่เลี้ยงลูกด้วยนม รวมทั้งสัตว์ฟันแทะเช่น กระต่าย หนู กระรอก กวาง แพรี ด๊อก (Parrie dog) และสามารถติดต่อมายังสัตว์เลี้ยงจำพวกวัว ควาย แกะ และแมวได้ โรคนี้ติดต่อมายังคนโดยการถูกแมลงพาหะคือเหลือบ เห็บ หมัด หรือยุงกัดสัตว์ที่ติดเชื้อนี้แล้วมากัดคน หรือติดโดยสัมผัสกับเลือด หรือสารคัดหลั่งของสัตว์ที่ป่วยด้วยโรคนี้เข้าทางบาดแผล เยื่อเมือก หรือรอยถลอก ขีดข่วน หรือถูกสัตว์ป่วยกัดโดยตรง ยังพบว่าการหายใจ หรือกินอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อโรคปนได้เชื้อก็สามารถทำให้ติดเชื้อได้ ไม่มีรายงานการติดต่อระหว่างคนสู่คน

   สำหรับชื่อโรคที่อาจไม่คุ้นหู ผมขอให้ความหมายตามที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ไว้ดังนี้

กุฏฐัง - โรคเรื้อนซึ่งทําให้อวัยวะเช่นมือและเท้ากุดเหี้ยนไป ฝีคัณฑมาลา - ชื่อฝีชนิดหนึ่งที่ขึ้นเป็นแถวตามคอ ฝีประคำร้อย - ชื่อฝีชนิดหนึ่งเกิดขึ้นบริเวณลำคอ เป็นเม็ดเรียงกันรอบคอ หิด - ชื่อโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อ Sarcoptes scabiei ลักษณะเป็นเม็ดสีขาว ใสเป็นเงาในเนื้อ ขึ้นตามผิวหนัง มีอาการปวดและคันเรียกว่า หิดด้าน เมื่อเม็ดแตกมีนํ้าเหลืองไหลเยิ้มเรียกว่า หิดเปื่อย

คุดทะราด - ชื่อโรคติดต่อชนิดหนึ่ง เป็นแผลเรื้อรัง บางรายแผลนั้นบานเหวอะหวะออก มีกลิ่นเหม็น เป็นแม่แผลให้เกิดแผลอื่นจําพวกเดียวกันพุออกไปอีก



   สำหรับโรคเรื้อนกวางหรือ psoriasis ที่ปัจจุบันเรียกว่าโรคสะเก็ดเงินนี่ (ภาพที่ 5) ชื่อเดิมมันใกล้เคียงกับโรคเรื้อน ที่เป็นโรคติดต่อ ฟังชื่อดูน่ากลัว ทั้งๆ ที่เรื้อนกวางนั้นไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคจึงไม่ติดต่อ ตอนหลังเปลี่ยนมาเป็นชื่อโรคสะเก็ดเงินตามลักษณะปื้นนูนหนาที่มีสะเก็ดสีขาว ชื่อน่าฟังขึ้นเยอะครับ แต่จริงๆ ผมว่าโรคเรื้อนกวางน่าจะเข้าได้กับโรคผิวเปลือกไม้คือ lichen simplex chronicus หรือ chronic eczema มากกว่าครับ (ภาพที่ 6)


   จึงเห็นได้ว่าโรคผิวหนังหลายอย่างที่กล่าวถึงในบทความนี้ ไม่ว่าจะเป็นโรคฝีดาษ โรคสิว โรคเริม โรคละลอก ล้วนเป็นโรคผิวหนังที่พบมาแต่สมัยพุทธกาล และคงยังมีให้เห็นในปัจจุบัน จะมีแค่แต่โรคฝีดาษเพียงอย่างเดียว ที่ดูว่ามนุษย์เราจะเอาชนะโรคนี้ได้นะครับ

______________________________________________________________________________________

เอกสารอ้างอิง
1. ตำราเรียนกระบวนวิชา GB 406 “สรรพศาสตร์ในพระไตรปิฎก” บทที่ 11 “แพทยศาสตร์ในพระไตรปิฎก”. (จาก http://main.dou.us/view_content.php?s_id=451)

2. ประวิตร พิศาลบุตร. โรคละลอก !?!. นิตยสารต่วย’ตูน 2554; 40(13):60-69. 3. ธีรศักดิ์ ชักนำ. โรคทูลารีเมีย (Tularemia). (จาก Bureau of Epidemiology, DDC, MPH; http://epid.moph.go.th/fact/Tularemia.htm) _____________________________________________________________________________________

วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ครีมรักษาฝ้า และครีมทาให้หน้าขาว

วารสารโรงพยาบาลวิชัยยุทธ เพื่อ...สุขภาพสตรีและเด็ก

กรกฎาคม-กันยายน 2554

บทความพิเศษ

โดย : นพ.ประวิตร พิศาลบุตร
_________________________________________________________________________________________

   ปัญหาความงามที่สตรีไทยวิตกกังวลกันมากปัญหาหนึ่ง คงหนีไม่พ้นเรื่องใบหน้าเป็นฝ้า หรือใบหน้าหมองคล้ำ จึงขอเล่าถึงเรื่องครีมที่ใช้แก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้ฟังนะครับ

ครีมรักษาฝ้า และครีมทาให้หน้าขาวที่ใช้กันแพร่หลาย ได้แก่

1. ไฮโดรควิโนน
   เป็นยาทาฝ้า ยาฟอกสีผิวให้ขาว ที่จัดอยู่ในกลุ่มยาลดการสร้างเม็ดสี เป็นยาที่ทำให้ผิวขาวที่ใช้บ่อยที่สุด การใช้ในสตรีมีครรภ์ยังไม่ยืนยันความปลอดภัย ยาอาจทำให้ผิวไวต่อแสงมากขึ้น ในไทยถือว่าไฮโดรควิโนนทุกระดับความเข้มข้นจัดเป็นยา ต้องให้แพทย์สั่งจ่าย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของยาจึงมียาทาฝ้าสูตรผสมโดยเพิ่มกรดวิตามินเอ และสเตียรอยด์ลงไป ก่อนใช้ยาอาจทดสอบโดยทาผิวที่ไม่มีรอยแตก หากเกิดอาการคัน, มีตุ่มน้ำใส และ/หรือ ผิวอักเสบแดง ไม่ควรใช้ยา ในการทายาต้องระวังไม่ให้สัมผัสนัยน์ตา การใช้ยาทาตัวนี้ให้ใช้เฉพาะใบหน้า, คอ, มือ, หรือ แขน ผลแทรกซ้อนของยาทาฝ้าตัวนี้คือ ทำให้เกิดผื่นแพ้สัมผัส, ปฎิกิริยาแพ้แสงแดด ที่อาจมีผื่นผิวหนังเป็นรอยดำหลังการอักเสบตามมา และที่พบได้ยากคือฝ้าถาวร ที่พบในคนดำที่ใช้ยาความเข้มข้นสูงทาต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน

2. กรดวิตามินเอ
   ออกฤทธิ์โดยการเปลี่ยนแปลงการเจริญเติบโตและการแบ่งเซลล์ผิวหนัง เร่งให้เซลล์ผิวหนังชั้นบนที่มีเม็ดสีเมลานินหลุดลอก การใช้ในสตรีมีครรภ์ยังไม่ยืนยันความปลอดภัย

3. กรดอาซิเลอิก
   เป็นยาฝ้ากลุ่มสารปฏิชีวนะ แรกเริ่มสังเคราะห์จากเชื้อยีสต์ การใช้ในสตรีมีครรภ์ทั่วไปจัดว่าน่าจะปลอดภัย

4. สเตียรอยด์อย่างเดียว
   ทำให้ฝ้าจางได้โดยยับยั้งการสร้างเม็ดสีเมลานิน แต่ถ้าใช้นานๆ ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนเช่น ผิวบาง, เส้นเลือดฝอยขยาย, เป็นสิว และขนใบหน้าดกขึ้น จึงไม่ควรใช้



ยาและเวชสำอางรักษาฝ้าและครีมทาให้ผิวขาวชนิดใหม่ๆ

   ปัจจุบันมีการคิดค้นยาและเวชสำอางรักษาฝ้าและทาให้ผิวขาวใหม่ๆ โดยหวังจะให้มีผลข้างเคียงน้อยที่สุด เช่น กรดโคจิก, อาร์บูติน, วิตามินซีและอนุพันธ์, สารสกัดชะเอม, กรดผลไม้, สารสกัดจากปอสา, สารสกัดจากใบหม่อน, สารสกัดจากว่านหางจระเข้, สารสกัดจากใบโสม, สารสกัดจากใบแปะก๊วย, และสารสกัดสมุนไพรแก่นมะหาด ส่วนผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารเสริมที่ใช้รักษาฝ้าเช่น สารสกัดเมล็ดองุ่น, สารสกัดเปลือกสน, สารสกัดทับทิม, และ tranxemic acid มีการกินยา tranxemic acid เพื่อให้ฝ้าจางลง ยาตัวนี้ออกฤทธิ์ทำให้บริเวณที่มีเลือดไหลหยุดเร็วขึ้น แต่ตัวยาสามารถยับยั้งการสร้างเม็ดสีได้ทำให้ฝ้าจางลง เนื่องจากต้องกินยาระยะยาวจึงต้องระวังผลข้างเคียงเช่น ภาวะหลอดเลือดหัวใจ, หรือหลอดเลือดดำอุดตัน

การทาครีมปกปิดรอยฝ้า หรือเพื่อทาให้หน้าขาว

   เป็นการใช้ครีม และ/หรือ แป้งเพื่อปกปิดความผิดปกติของสี หรือโครงรูปของใบหน้า หรือร่างกาย ใช้ทาปกปิดไฝและปานเช่น ปานดำที่ใบหน้า, ด่างขาว, แผลเป็น, รอยสัก และฝ้า ในแง่การรักษาฝ้าเนื่องจากสตรีเอเชียส่วนใหญ่นิยมมีผิวขาว จึงอาจใช้สารเคลือบคลุมผิวทา เนื่องจากเป็นสารที่ทำให้ทึบแสง มีสีขาว หรือขาวหม่นจึงทำให้ใบหน้าและผิวหนังแลดูขาวขึ้น ตัวอย่างของสารเคลือบคลุมผิวเช่น titanium dioxide, zinc oxide, talcum, kaolin, และ bismuth pigments สารพวกนี้ยังกันแสงแดดจึงมีส่วนป้องกันการเกิดฝ้าอีกด้วย นับว่าการทาครีมปกปิดรอยฝ้าเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการแก้ปัญหาฝ้า และการทำให้ใบหน้าขาววิธีหนึ่ง

สุขศึกษาที่ผู้เป็นฝ้า และผู้ที่ต้องการมีผิวขาวควรทราบ

1. การหลีกเลี่ยงแสงแดดเป็นสิ่งจำเป็นในการรักษาฝ้า และการมีผิวขาว ดังสำนวนไทยเดิมที่ว่ามี “ผิวขาวเหมือนผลแตงร่มใบ” หากต้องออกโดนแดดจัดควรใช้ยากันแดดร่วมด้วยเสมอ

2. การทาครีมรักษาฝ้าให้ทาเฉพาะตรงที่เป็นฝ้าเท่านั้น ไม่ต้องทาทั่วหน้า แต่ถ้าทาให้หน้าขาวให้ทาบางๆ ทั่วหน้าก่อนนอน 3. การรักษาฝ้ากินเวลานาน ผู้ป่วยต้องเข้าใจว่าฝ้าจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่ต้องใช้เวลาในการรักษานาน

4. การรักษาฝ้าในสตรีมีครรภ์ มักแนะนำให้รอจนคลอดแล้วจึงรักษา เพราะฝ้าในสตรีมีครรภ์ดื้อต่อการรักษา เพราะมีปัจจัยจากฮอร์โมน นอกจากนั้นการรักษาอาจไม่จำเป็นเพราะส่วนใหญ่หลังคลอดฝ้าจะจางลงเอง และยารักษาฝ้าหลายตัวยังไม่ปลอดภัย หรือยังไม่ระบุความปลอดภัยหากใช้ระหว่างการตั้งครรภ์ หรือให้ นมบุตร

   ครีม และอาหารเสริมรักษาฝ้า และทำให้ผิวขาวที่กล่าวถึงนี้ หลายตัวอยู่ในขั้นตอนการวิจัย ผลการรักษายังสรุปจากกลุ่มผู้รับการรักษาจำนวนไม่มาก ส่วนใหญ่ยังต้องติดตามผลการรักษาต่อไป และน่าตั้งข้อสังเกตว่า ผิวสีแทนหรือผิวสีแบบคนไทยเรานั้น แท้ที่จริงเป็นสีผิวที่ชาวตะวันตกใฝ่ฝันอยากจะเป็นเจ้าของ เพราะเป็นสีผิวที่แลดูว่ามีสุขภาพดีและมีเสน่ห์ อีกทั้งผู้ที่มีผิวสีแทนจะเหี่ยวแก่ช้ากว่าผู้ที่มีผิวขาวจัดนะครับ.......

____________________________________________________________________________________________

แกะสิวจนเสียชีวิตได้....จริงหรือ ?

วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2554

แกะสิวจนเสียชีวิตได้....จริงหรือ ?


นิตยสาร หมอชาวบ้าน คอลัมน์ ผิวสวย หน้าใส กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔

นายแพทย์ประวิตร พิศาลบุตร

____________________________________________________________________________________


แกะสิวจนเสียชีวิตได้....จริงหรือ ?

   การแกะสิวอาจทำให้เชื้อแบคทีเรียลุกลามตามเส้นเลือดดำบนใบหน้า เข้าไปสู่เส้นเลือดดำที่อยู่ใต้สมอง จนเกิดการอักเสบของเส้นเลือดดำที่ใต้สมองที่เรียกว่า cavernous sinus thrombosis ทำให้เกิดอาการตามัว หรืออาจตาบอด ปวดศีรษะ ดวงตาโปนเหมือนจะถลน ใบหน้าบวมเป่ง ใบหน้าเป็นอัมพาต และเมื่อมีการติดเชื้อเกิดการอักเสบจะเกิดอาการบวม แดง ร้อน ตามมา การอักเสบบวมที่หย่อมเส้นเลือดนี้ที่อยู่ใต้สมองจึงเพิ่มความดันในสมอง เนื่องจากสมองถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่แคบๆ เมื่อเกิดก้อนบวมโตในสมอง หรือฝีในสมอง ก้อนนี้ก็จะไปกดศูนย์กลางการทำงานในสมองที่จำเป็นต่อชีวิต ได้แก่ ศูนย์เมตาบอลิซึมคือ ต่อมปิจูตารี่, ศูนย์อารมณ์คือ ไฮโปทาลามัส และศูนย์หายใจคือ ก้านสมอง แต่ที่จริงแล้วโรค cavernous sinus thrombosis พบได้น้อยมาก มีรายงานการแพทย์ทั่วโลกว่า พบผู้ป่วยโรคนี้ทั้งหมดในโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันแค่ ๒๐๐-๓๐๐ รายเท่านั้น และส่วนใหญ่ก็พบในยุคก่อนที่จะค้นพบยาปฏิชีวนะ แต่ถึงพบน้อยมากก็มีอันตรายมากเพราะอัตราตายในอดีตคือร้อยละ ๑๐๐ ถึงในยุคปัจจุบันที่ว่ามียาดีๆ ใหม่ๆ มากมาย อัตราตายก็ยังถึงร้อยละ ๓๐ การแกะสิวจึงอาจทำให้เสียชีวิตได้จริง

   สิวที่สามารถกดออกได้คือ สิวหัวดำซึ่งยังไม่มีการอักเสบเกิดขึ้น โดยใช้เครื่องมือกดสิวและกดโดยผู้ชำนาญเท่านั้น การกดหรือบีบสิวระยะอื่นๆ ทำให้อาการเลวลง และเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดแผลเป็นถาวร

การรักษาสิวนั้นยิ่งใช้ยาแรงยิ่งได้ผลดีจริงไหม ?

   วัยรุ่นที่เป็นสิวส่วนใหญ่เชื่อว่าการรักษาสิวนั้นยิ่งใช้ยาแรงยิ่งได้ผลดี เช่น ถ้าใช้ยาทาบีพีความเข้มข้นต่ำคือร้อยละ ๒.๕ (2.5 % benzoyl peroxide,BP) แล้วได้ผล ถ้าเพิ่มความเข้มข้นเป็นร้อยละ ๑๐ (10% BP) ก็น่าจะได้ผลมากขึ้นอีก ที่จริงแล้วถ้าใช้ยาความเข้มข้นต่ำแล้วได้ผลดีก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาแรงขึ้น นอกจากจะเสียเงินมากขึ้นโดยไม่จำเป็นแล้วยังอาจเกิดผลแทรกซ้อนเช่น การระคายเคืองมากขึ้น

สิวเกิดจากเลือดเสียใช่ไหม ?

   บางครั้งอาจพบเลือดออกในสิวที่เป็นตุ่มหนองขนาดใหญ่ได้ ซึ่งอาจเห็นเป็นเลือดดำอยู่ภายใน ทำให้บางคนเชื่อว่าสิวเกิดจากเลือดเสีย ซึ่งไม่เป็นความจริง

แสงแดดทำให้สิวดีขึ้นได้ใช่ไหม ?



   แสงแดดอาจทำให้ดูเหมือนว่าสิวดีขึ้น เพราะแสงแดดทำให้ผิวไหม้แดง และผิวคล้ำลง ช่วยบดบังรอยแดง,รอยดำจากสิวอักเสบ แท้จริงแล้วนอกจากแสงแดดเป็นอันตรายต่อผิวหนังแล้ว แสงแดดยังทำให้ผิวระคายเคือง และสิวกำเริบ, เกิดผิวเหี่ยวแก่ และเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งผิวหนัง

ผิวมันทำให้สิวกำเริบใช่ไหม ?

   สิวไม่ได้เกิดจากผิวมัน แต่เกิดจากเซลล์ผิวหนังที่บุท่อรูขุมขนที่หลุดออกตามธรรมชาติไม่ถูกขจัดสู่ผิวหนังด้านนอก ทำให้เกิดการตกค้าง เมื่อรวมกับไขมันที่ต่อมไขมันสร้างขึ้นจะก่อให้เกิดสิวอุดตัน (comedone) ผิวมันเป็นอาการแต่ไม่ได้เป็นสาเหตุของสิว