วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2553

คำถามเหมาโหลเกี่ยวกับโรคสิว (The Dozen Acne FAQs)

วิชัยยุทธจุลสาร ฉบับพฤษภาคม-สิงหาคม 2553
คำถามเหมาโหลเกี่ยวกับโรค สิว
(The Dozen Acne FAQs)

นายแพทย์ประวิตร พิศาลบุตร
แพทยศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
Diplomate, American Board of Dermatology
Diplomate, American Subspecialty Board of Dermatological Immunology
อาจารย์พิเศษภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ____________________________________________________________________________________

     โรค สิว เป็นโรคผิวหนังที่พบบ่อยที่สุด หลายคนมีความเชื่อว่าสิวเป็นแค่ปัญหาความงาม ไม่ต้องรักษาก็หายเองได้ แท้ที่จริงแล้วปัจจุบันจัดว่าสิวเป็น “โรคเรื้อรัง” ที่ต้องการการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง
         และโรคสิวนั้นนอกจากก่อความเจ็บป่วยทางร่างกายแล้ว ยังส่งผลเสียต่อจิตใจอีกด้วย จากการประชุมของแพทย์ผิวหนังทั่วโลกใน “กลุ่มพันธมิตรพิชิตสิว” (Global Alliance to Improve Outcomes in Acne) เสนอว่า ต้องรณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจว่าสิวเป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง ซึ่งทั่วไปแพทย์สามารถรักษาสิวให้หายได้แต่มักกลับเป็นซ้ำได้บ่อย การรักษาสิวที่ถูกต้องจึงต้องรวมทั้งการให้ยาเพื่อให้สิวหาย และยังต้องใช้ยาต่อเนื่องไปอีกเพื่อไม่ให้สิวกำเริบใหม่ ผู้ที่เป็นสิวจึงต้องเข้าใจว่า สิวเป็นโรคเรื้อรังที่มีอาการกำเริบและอาการสงบสลับกันไปอย่างต่อเนื่องกันนาน พบเสมอว่าผู้ป่วยสิวทั่วโลกรวมทั้งในไทยจะใช้ยาแค่เพื่อรักษาสิวให้หาย แต่ไม่ได้ใช้ยาเพื่อป้องกันไม่ให้สิวเกิดขึ้นใหม่ สิวที่ไม่ได้ดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ทำให้เกิดแผลเป็นทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทำให้ผู้ป่วยขาดความมั่นใจ ซึมเศร้า และกระวนกระวาย



          ทั้งยังมีงานวิจัยของออสเตรเลียแสดงว่า ผู้เป็นสิวมีโอกาสตกงาน และไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งมากกว่าผู้ที่ไม่เป็นสิวอีกด้วย ที่ต้องอ้างข้อมูลของฝรั่งมังค่า เพราะเมืองนอกนี่เขาถือว่าสิวเป็นโรค แถมประกันสุขภาพก็ยังให้เบิกได้ ข้อมูลของเขาจึงชัดเจนกว่าครับ ของไทยเราส่วนใหญ่ยังมองว่าสิวเป็นแค่เรื่องสวยๆ งามๆ ก็เลยต้องหลบๆซ่อนๆ รักษาตัวเองแบบตามบุญตามกรรม แถมยุคหนึ่งหมอผิวหนังที่รักษาสิวก็ถูกมองว่าไม่มีโรคผิวหนังอะไรจะรักษาแล้วหรือ อ้าว...ก็สิวเป็นโรคผิวหนังที่พบบ่อยที่สุด ถ้าหมอผิวหนังไม่รักษาโรคสิวแล้วจะให้ใครรักษาล่ะครับ ...........เนื่องจากสิวจัดเป็นโรคเรื้อรังต้องรักษาต่อเนื่องกันนานๆ ผู้ป่วยจึงมักมีคำถามถามแพทย์เกี่ยวกับเรื่องสิวมากมาย
  
          จึงขอรวบรวมคำถาม-คำตอบ และเรื่องน่ารู้ ที่เกี่ยวกับโรคสิว มาไว้ในที่นี้นะครับ

1. ทำไมจึงเรียกว่าสิวเป็น “โรคเรื้อรัง” ?

       จัดว่าสิวเป็นโรคเรื้อรังเพราะ
1. สิวมักเกิดในช่วงวัยรุ่นซึ่งเป็นช่วงที่มักมีความเครียดทางจิตใจมากอยู่แล้ว และมักเป็นอยู่นานหลายปี หลายคนเป็นสิวจนถึงอายุ 30 กว่าๆ
2. โรคสิวมักกำเริบเป็นระยะๆ
3. การเป็นสิวยังส่งผลเสียต่อจิตใจและสังคม
4. การไม่ให้ความสำคัญกับการเป็นสิวหรือคิดว่าสิวเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นแล้วก็หายเองได้ในกรณีที่สิวเป็นมากอาจก่อผลแทรกซ้อน เช่น ทำให้เกิดแผลเป็นได้และรอยด่างดำ
5. ในปัจจุบันมีแนวทางการรักษาสิวที่มีประสิทธิภาพสูงหลายวิธี แต่ส่วนใหญ่แล้วการรักษาสิวจะกินเวลานานหลายเดือนหรือเป็นปีๆ
2. เมื่อไรควรไปพบแพทย์เพื่อรักษาสิว ?
       ที่กล่าวว่า “สิวเป็นโรค” ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นสิวทุกครั้งต้องพบแพทย์ เพราะโรคทุกชนิดก็มีหลายระดับความรุนแรง เช่น ถ้าเป็นหวัดไม่มากก็อาจแค่นอนพักก็พอ แต่ถ้าเป็นไข้หวัดแล้วมีไข้สูง ปวดเมื่อยมาก ก็อาจต้องมาพบแพทย์ ในกรณีสิวก็เช่นกัน ถ้าเป็นสิวไม่มากอาจซื้อยามาทาเองได้ โดยต้องอ่านฉลากยาโดยละเอียดก่อนใช้ แต่ถ้าเป็นสิวมากก็ควรพบแพทย์ โดยมีข้อแนะนำว่าควรไปพบแพทย์เพื่อรักษาสิวเมื่อ 1. เมื่อใช้ยาทาเองแล้วอาการไม่ดีขึ้น 2. เมื่อสิวอักเสบมาก, ปวดบวมแดง หรือสิวหายแล้วมักเป็นแผลเป็น 3. ผู้หญิงที่เป็นสิวที่ขนขึ้นตามใบหน้า หรือประจำเดือนผิดปกติ ควรพบแพทย์ 4. ถ้าสิวเลวลงมาก, สิวอักเสบบวมแดงมาก และมีไข้ ควรพบแพทย์ทันที เพราะอาจแสดงว่ามีการอักเสบและติดเชื้ออย่างรุนแรง 5. รู้สึกอายที่เป็นสิว หรือ รู้สึกหดหู่ 6. เป็นคนผิวคล้ำเมื่อสิวหายแล้วทิ้งรอยดำไว้นานมาก


3. ไปหาหมอเพื่อรักษาสิวแล้ว หมอจะนัดมาตรวจบ่อยแค่ไหน ?
       โดยทั่วไปแพทย์จะติดตามผลการรักษาผู้ป่วยโรคสิวโดย                                           
1. นัดผู้ป่วยมาตรวจซ้ำครั้งแรกใน 1-4 สัปดาห์ เพื่อสอบถามถึงวิธีการใช้ยา และผลข้างเคียง
2. ต่อไปอาจนัดผู้ป่วยทุก 1-3 เดือน เพื่อปรับขนาดยา
3. ดูผลการรักษาหลังรักษาอย่างต่อเนื่องกันแล้วอย่างน้อย 4-6 สัปดาห์ขึ้นไป ถ้าไม่ได้ผลหรือเลวลงจึงจะพิจารณาเปลี่ยนยา
4. หลังจากสิวยุบหมดแล้ว แพทย์อาจให้ผู้ป่วยใช้ยาทาคุมไว้จนกว่าจะพ้นวัยที่เป็นสิว

4. ที่ว่าสิวเป็นโรค ไปหาหมอรักษาสิวแล้วจะถูกเจาะเลือด หรือส่งมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือไม่ ?

        โดยทั่วไปหมอจะไม่ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ยกเว้นในรายที่สงสัยว่าจะเป็น
1. โรคสิวที่เกิดจากความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ เช่น ผู้หญิงที่ขนดกดำ อ้วน ประจำเดือนผิดปกติเป็นประจำ, เสียงห้าว, ศีรษะล้านแบบผู้ชาย กรณีนี้หมอผิวหนังอาจส่งผู้ป่วยให้ผู้เชี่ยวชาญทางนรีเวชและต่อมไร้ท่อร่วมดูแลด้วย
2. โรคสิวจากเชื้อแบคทีเรียกรัมลบ โดยทำการเพาะเชื้อ
3. โรคสิวจากเชื้อยีสต์ หรือโรคสิวอักเสบที่ต้องการระบุชนิดของเชื้อ โดยทำย้อมดูเชื้อจากหนองหรือส่งหนองไปเพาะเชื้อ
4. รอยโรคที่คล้ายสิว เช่นเนื้องอกของผิวหนังที่ใบหน้าบางอย่าง แพทย์อาจต้องขอตัดชิ้นเนื้อ (biopsy) เพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา

5. ทำไมบางคนเป็นสิวหายแล้วหน้าเรียบ แต่บางคนสิวหายแล้วหน้ามีหลุมแผลเป็นสิว ?

      มีข้อน่าสังเกตว่า กลุ่มผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการเกิดแผลเป็นสิวคือ
1. ผู้ที่เป็นสิวชนิดเป็นตุ่มใต้ผิวหนังที่เรียกว่าสิวหัวช้าง (nodulocystic acne) สิวพวกนี้อาจกำเริบเลวลงอย่างรวดเร็ว และทำให้เกิดแผลเป็นได้มาก
2. ผู้ที่มีแผลเป็นสิวอยู่ก่อน แม้จะมีแค่สิวอุดตันให้เห็นเท่านั้น ผู้ป่วยกลุ่มนี้แม้ไม่มีการอักเสบของสิวให้เห็นชัดเจนก็ยังอาจเกิดแผลเป็นได้
3. ผู้ที่เป็นสิวอักเสบเรื้อรัง ถ้าเป็นมานานกว่า 2 ปี ก็มีโอกาสเกิดแผลเป็นสิวสูง 4. ผู้ที่ชอบบีบแกะสิว และไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์



6. มีแผลเป็นสิวมาก จะแก้ไขได้บ้างไหม ?
         การรักษาแผลเป็นสิวมีหลายวิธี เช่น การทำเลเซอร์, การขัดผิวด้วยผงขัด (microdermabrasion), การฉีด สารเติมเต็ม (fillers), การฉีดสเตียรอยด์เข้าแผลเป็น และการฉายแสงสีน้ำเงิน เป็นต้น ปัจจุบันมีการใช้เลเซอร์รักษารอยแผลเป็นสิวมากขึ้น เป็นเทคนิคที่มาแทนที่การลอกผิวหนังโดยใช้สารเคมี และการขัดหน้าชนิดลึก (dermabrasion)
        สำหรับแผลเป็นสิวชนิดนูนแข็งและชนิดคีลอยด์นั้น อาจใช้การทาสเตียรอยด์ หรือการฉีดเข้าไปในรอยโรค ยังมีการใช้การฉีดสเตียรอยด์เพื่อรักษาสิวที่อักเสบมาก หรือสิวที่เป็นถุงซิสต์ เพื่อลดการอักเสบและป้องกันการเกิดแผลเป็น โดยฉีดด้วยคอร์ติโคสตีรอยด์ความเข้มข้นต่ำ ซึ่งจะช่วยลดการอักเสบและทำให้สิวยุบภายใน 3 - 5 วัน แต่มักต้องฉีดซ้ำทุก 2 – 3 สัปดาห์ ไม่ใช้เทคนิคการฉีดสตีรอยด์ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานร่วมด้วย อีกทั้งการฉีดสเตียรอยด์ทำให้สิวยุบเร็วจริง แต่ก็มีข้อแทรกซ้อนคือทำให้เกิดสิวใหม่ตามมา เพราะสเตียรอยด์เป็นสารก่อสิวด้วย และยังอาจเกิดรอยบุ๋มที่ตำแหน่งที่ฉีด ซึ่งต้องใช้เวลานานหลายเดือนกว่าผิวจะกลับมาเต็มตามปกติ นอกจากนั้น ยังพบการแพ้ยาสเตียรอยด์ซึ่งใช้ฉีดสิว ซึ่งอาจเกิดผื่นคัน บวมแดง หายใจไม่ออก ช็อกหมดสติและเสียชีวิตได้
        ปัจจุบันในต่างประเทศมีการใช้เทคนิคการไถด้วยลูกกลิ้งหนาม (micro needle treatment) โดยใช้เครื่องมือที่เป็นลูกกลิ้งหนาม ไถผิวหนังทำให้เกิดรูเล็กมากที่ชั้นนอกสุดของผิวหนัง ทำให้เกิดการบาดเจ็บเล็กน้อยของชั้นหนังแท้เป็นการกระตุ้นให้มีการสร้างคอลลาเจนขึ้นใหม่ ทำให้รอยแผลเป็นสิวดูดีขึ้น เทคนิคนี้ใช้รักษาแผลเป็นสิวชนิดเป็นรูเหล็กแทงน้ำแข็ง, ชนิดเป็นคลื่น, ชนิดเป็นหลุมรูปกล่อง, ชนิดเป็นตุ่มนูน และชนิดเป็นอุโมงค์ แต่ไม่เหมาะสำหรับแผลเป็นสิวชนิดคีลอยด์ และต้องไม่ทำในขณะที่ยังมีสิวและผิวหนังอักเสบ

7. ยาทารักษาสิวทำให้ผิวไหม้แดดได้ไหม ?
         ยาทารักษาสิวกลุ่มกรดวิตามินเอ ทำให้ผิวไหม้แดดได้ง่ายจริง เพราะยาทำให้ผิวหนังชั้นนอกสุดคือชั้นขี้ไคลบางตัวลง ผิวหนังชั้นขี้ไคลนี้ปกติจะกันแสงแดดไว้ได้มาก ดังนั้นหากใช้ยากลุ่มกรดวิตามินเอทารักษาสิวและรักษาริ้วรอยเหี่ยวย่น ก็ต้องทากลางคืนก่อนนอน ต้องหลบเลี่ยงการโดนแดดจัดและใช้ยากันแดดอย่างสม่ำเสมอ

8. ยาทารักษาสิวเสี้ยน BP ( เบ็นซอยล์ เปอร์ออกไซด์ ) และกรดวิตะมินเอ ทาพร้อมกันได้ไหม ?
        ยาทา BP และกรดวิตะมินเอเป็นยาทาที่แพทย์และเภสัชกรมักแนะนำให้ใช้รักษาสิวเสี้ยน ซึ่งมีข้อควรระวังคือ ห้ามทา BP และกรดวิตะมินเอในเวลาเดียวกัน เพราะ BP ทำให้กรดวิตะมินเอไม่ออกฤทธิ์ จึงต้องเลี่ยงมาทา BP ในช่วงเช้าหรือช่วงบ่าย และทากรดวิตะมินเอ ก่อนนอน และถ้าใช้ BP หรือกรดวิตะมินเออยู่แล้ว ต้องระมัดระวังในการใช้กรดผลไม้ เพราะยาเหล่านี้มีโอกาสทำให้ผิวหน้าระคายเคืองได้ง่าย ถ้าใช้ร่วมกันยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการเกิดผิวแพ้ระคายเคือง การใช้กรดวิตะมินเอควรเริ่มด้วยความเข้มข้นต่ำก่อนแล้วจึงค่อยๆ เพิ่มความเข้มข้นนอก จากนั้นในผู้ป่วยโรคสิวบางราย ในช่วงแรกของการใช้กรดวิตะมินเอ นอกจากจะต้องใช้ความเข้มข้นต่ำแล้ว ยังอาจต้องทายาวันเว้นวันไปจนกว่าผิวจะชินยาแล้วจึงทายาทุกวันได้ โดยทั่วไปยาทากลุ่มนี้ในรูปของเจลหรือสารละลายจะทำให้ผิวระคายเคืองได้ง่ายกว่าในรูปของครีม

9. ยาทาสิวต้องทาทั่วหน้าไหม ?

        ปกติแล้วถ้าเป็นสิวอักเสบไม่กี่เม็ด อาจใช้ยาแต้มหัวสิวแต้มเฉพาะสิวที่กำลังอักเสบ เช่น กลุ่มยาทาปฏิชีวนะ อีริโทรมัยซิน, คลินดาไมซิน แต่ถ้าผิวหน้ามีแนวโน้มที่จะเป็นสิวง่ายเพราะมีสิวอุดตัน ก็ต้องใช้ยาทาลดสิวเสี้ยนทาทั่วหน้าหรือทาตำแหน่งที่มักเป็นสิว เช่น หน้าผาก, แก้ม, คาง และ จมูก

10. การใช้ยาสิวต้องตรงเวลาไหม ?
        การทายากินยารักษาสิวควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร การกินยากรดวิตะมินเอ ( Isotretinoin ) มักกินวันละครั้ง อาจเป็นเช้า กลางวัน หรือ เย็น โดยแนะนำให้กินพร้อมอาหารมื้อที่มีไขมันเพื่อเพิ่มการดูดซึม ส่วนการกินยาปฏิชีวนะถ้าต้องกินวันละครั้ง ควรเลือกกินยาในเวลาเดิมทุกวัน การกินยาปฏิชีวนะถ้าต้องกินวันละ 2-3 ครั้ง ก็ต้องเว้นระยะห่างให้เหมาะสม เช่น กินยา เช้า และ เย็น หรือ เช้า, กลางวัน และ เย็น ยาปฏิชีวนะบางตัวต้องกินตอนท้องว่าง ส่วนยาทานั้นให้ใช้ตามคำแนะนำ เช่น ทาก่อนล้างหน้า ทาก่อนนอน


11. ชอบลืมกินยา ทายา ต้องทำอย่างไร ?
        ผู้ป่วยโรคสิวหลายรายมักลืมกินยาทายา แนะนำว่าให้ทายากินยาพร้อมกับการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การแปรงฟัน การแต่งหน้า การกินอาหาร ถ้าลืมกินยาปฏิชีวนะไป 1 วัน ก็ให้กินยาต่อตามปกติได้เลย โดยไม่ต้องกินเป็น 2 เท่า แต่ถ้าเป็นยากลุ่มกรดวิตะมินเอ (Isotretinoin) ถ้าลืมกินยาไป 1 วัน วันรุ่งขึ้นอาจกินเป็น 2 เท่าได้เพราะยาขนานนี้หวังผลการออกฤทธิ์โดยขนาดยารวมทั้งหมด ( total cumulative dosage ) คือ ขนาดยารวม 120 มก. ต่อ น้ำหนักตัว 1 กก. ต่อ 1 คอร์สของการรักษา

12. เป็นสิวแล้วควรทำความสะอาดใบหน้าบ่อยๆ ไหม ?
         ไม่ควร ที่จริงแล้วการทำความสะอาดผิวมากเกินไปจัดเป็นปัญหาที่พบบ่อยในการรักษาสิว เนื่องจากการรักษาสิวนั้นมักทำให้สารเคลือบผิว (skin barrier) ตามธรรมชาติอ่อนแอลง จึงควรแนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ระคายเคืองต่อผิว เมื่อทำความสะอาดผิวมากเกินไป หรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่แรงๆ ทำให้ขบวนการสร้าง เคอราตินของเซลล์ผิวหนัง (หรือเรียกง่ายๆว่าชั้นขี้ไคล) ไม่เกิดตามปกติ ส่งผลให้ ผิวหยาบ แห้ง ลอก แดง มีตุ่ม, ผิวระคายเคือง ทำให้แสบ คันง่าย, มีสิวอุดตันเพิ่มมากขึ้น และมีจำนวนเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังมากขึ้น โดยเฉพาะแบคทีเรียที่ก่อโรค
                                                                                                               
การทำความสะอาดผิวหน้านั้น ควรทำเฉพาะในเวลาดังนี้

1. เวลาเช้า – เพื่อล้างเศษยาทารักษาสิวที่หลงเหลืออยู่ออก เพราะยาทารักษาสิวที่ทาก่อนนอน (คือ กรดวิตะมิน เอ) ทำให้ผิวไวต่อแสง

2. เวลาเย็น – เพื่อล้างครีมกันแดด และเมคอัพ

3. หลังทำกิจกรรมที่ร้อน และมีเหงื่อออกมา

        หวังว่าคำถาม-คำตอบทั้ง 12 ข้อหรือครบหนึ่งโหลพอดีนี้ คงทำให้ท่านผู้อ่านเข้าใจเกี่ยวกับโรคสิวมากขึ้น อันจะนำมาซึ่งการรักษาสิวที่ได้ผลดีขึ้นตามมาด้วย เรียกว่า “เหมาโหล (แล้วสิว) ดีกว่า” หรือ “(Acne) Better by the Dozen (Questions)” ตามชื่อหนังสืออ่านนอกเวลาภาษาอังกฤษ “Cheaper by the Dozen” (เหมาโหลถูกกว่า) ที่ผู้เขียนต้องอ่านตอนสมัยเป็นนักเรียน หนังสือเล่มนี้แต่งในพ.ศ. 2491 คือ 62 ปีมาแล้ว และถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์แล้วถึง 3 ครั้งครับ

เอกสารอ้างอิง
1. ปรียา กุลละวณิชย์, ประวิตร พิศาลบุตร. สิว...แค่ผิวไม่สวยหรือเป็นโรค. มติชนรายวัน. 20 สิงหาคม 2540.
2. เพ็ญวดี ทิมพัฒนพงศ์, วัณณศรี สินธุภัค, สุชาย ศรีปรัชญาอนันต์, นุชา เนียมประดิษฐ์. Clinical practice guideline for acne. สำหรับแพทย์เวชปฎิบัติ. http://www.onisueka.com/.
3. รัศนี อัครพันธุ์. โรคของต่อมไขมัน. ใน: ปรียา กุลละวณิชย์, ประวิตร พิศาลบุตร. ตำราโรคผิวหนังในเวชปฏิบัติปัจจุบัน (Dermatology 2010). กรุงเทพฯ: บริษัท โฮลิสติก พับบลิชชิ่ง จำกัด2548;56-70.
4. ประวิตร พิศาลบุตร. โรคสิวในเวชปฎิบัติ (ความเชื่อที่ผิดและคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคสิว). วารสารคลินิก 2551; 24(5) :393-402.
5. ประวิตร พิศาลบุตร. เวชปฏิบัติในการรักษาโรคสิว : การวินิจฉัย การประเมินความรุนแรง และการดูแลผิวหนัง (CME article). Medical Progress 2552;8(4): 56-63.