นิตยสารหมอชาวบ้าน
คอลัมน์ ผิวสวย หน้าใส
สิงหาคม ๒๕๕๓
นายแพทย์ประวิตร พิศาลบุตร
โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) ...มักไม่หายขาด
พบโรคสะเก็ดเงินได้ทั่วโลกประมาณร้อยละ ๒ ของประชากร เป็นในชายและหญิงเท่ากัน โรคสะเก็ดเงิน (psoriasis) เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่มีหลายรูปแบบ คือ
โรคสะเก็ดเงินชนิดปื้นนูนหนาขนาดใหญ่ และเป็นเรื้อรัง พบได้บ่อย ปื้นมีขอบเขตชัดเจน, สีออกชมพูถึงแดง, มีสะเก็ดสีเงินปกคลุม พบที่ข้อศอก, ข้อเข่า, แขนขา และหลังด้านล่าง,
โรคสะเก็ดเงินรูปหยดน้ำ พบบ่อยที่สุดในเด็ก, วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ตอนต้น เป็นปื้นนูนขนาดเล็กเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า ๑ ซม.จำนวนมากตามลำตัว, แขนขา อาจพบหลังการเจ็บคอ,
โรคสะเก็ดเงินตามซอกพับ พบผื่นที่ขาหนีบ, รักแร้ และใต้ราวนม,
โรคสะเก็ดเงินที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ผื่นชนิดนี้อาจหนามาก และทำให้ฝ่ามือ ฝ่าเท้าแตก และเจ็บ,
โรคสะเก็ดเงินชนิดตุ่มหนองทั่วร่างกาย มักรู้สึกไม่สบาย, มีไข้ และเจ็บผิวหนัง,
โรคสะเก็ดเงินชนิดเป็นผื่นแดงทั่วร่างกาย คือมีผิวหนังอักเสบแดงร้อยละ ๙๐ ของร่างกายขึ้นไป
อาจพบโรคสะเก็ดเงินเป็นที่หนังศีรษะ โดยเฉพาะตามแนวไรผม และยังพบโรคสะเก็ดเงินของเล็บ ลักษณะคือเล็บมีหลุมเล็กๆ, เล็บหนาผิดรูปร่าง บางรายพบว่าเนื้อใต้เล็บมีจุดสีเหลือง และอาจพบเล็บเผยอ พบว่าผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินประมาณร้อยละ ๕-๓๐ อาจพบโรคสะเก็ดเงินของข้อร่วมด้วย มักเป็นที่ข้อนิ้วส่วนปลาย
โรคสะเก็ดเงินอาจกำเริบได้จากปัจจัยหลายอย่าง เช่น จากยาบางตัว, ความเครียด, การสูบบุหรี่, การดื่มแอลกอฮอล์, โรคอ้วน และการติดเชื้อไวรัสเอดส์ (HIV)
การรักษาโรคสะเก็ดเงินมักเริ่มตามลำดับจากการใช้ยาทา, การฉีดสารสเตียรอยด์เข้ารอยโรค, การฉายรังสียูวี และการให้ยากิน ยาทาที่ใช้มีหลายตัว นิยมใช้ในรูปขี้ผึ้งถ้าใช้ในบริเวณกว้าง, ใช้ในรูปโลชันและครีมเมื่อทารอยโรคที่หนังศีรษะที่มีเส้นผม และใช้ในรูปครีมเมื่อทาที่ซอกพับ นิยมใช้ยาทาสเตียรอยด์เพราะทาง่าย, ราคาถูก ที่บริเวณใบหน้า หรือซอกพับอาจต้องใช้สเตียรอยด์ที่มีฤทธิ์อ่อน เมื่อทาไปนานๆ ฤทธิ์ของยาอาจน้อยลง, ยาทาแคลซิโปไทรออล (calcipotriol) เป็นอนุพันธุ์ของวิตามินดี ๓ มักระคายเคืองผิวหนัง จึงไม่นิยมทาใบหน้าและซอกพับ, ยาทากลุ่มน้ำมันดิน (coal tar) มีกลิ่นเหม็นเหมือนยางมะตอย, เปรอะเปื้อนเสื้อผ้า, ทำให้ผิวระคายเคือง, รูขุมขนอักเสบ, ยาทากลุ่มกรดซาลิซัยลิค (salicylic acid) ใช้ในรูปครีม หรือขี้ผึ้ง ช่วยละลายขุยได้ดี แต่ถ้าถูกดูดซึมมากอาจทำให้เกิดอาการได้ยินเสียงในหู, มึนศีรษะ, ยาทาไดทรานอล (dithranol) อาจทำให้ผิวระคายเคือง และทำให้ผิวหนัง, เส้นผม, เสื้อผ้ามีสีเปลี่ยน จึงมักทายาระยะสั้นโดยค่อยๆ เพิ่มระยะเวลาที่ทายาทิ้งไว้ ส่วนการฉีดสเตียรอยด์เข้าไปในปื้นโรคสะเก็ดเงิน นิยมใช้ในโรคสะเก็ดเงินชนิดปื้นหนาและมีขุยมาก
นอกจากนั้นยังมีการฉายแสง (phototherapy) เพื่อรักษาโรคสะเก็ดเงิน ใช้ในกรณีที่มีรอยโรคกระจายเป็นบริเวณกว้าง ส่วนยากินที่ใช้รักษาโรคสะเก็ดเงิน เช่น เอซิเทรติน (acitretin) ทำให้ทารกในครรภ์พิการ ผู้ป่วยหญิงที่รับยาตัวนี้ต้องหยุดยาอย่างน้อย ๓ ปีจึงกลับมาตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัย ข้อแทรกซ้อนอื่นๆ คือ ปากแห้ง, ผิวแห้ง, ตาแห้ง, ไขมันในเลือดสูง และเป็นพิษต่อตับ, ยาเมทโทรเทร็กเซท (methotrexate) ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ยา, สตรีมีครรภ์, ในคนที่ดื่มแอลกอฮอล์, ในโรคติดเชื้อ เช่น วัณโรค, เป็นโรคตับ และโรคไต, ยาไซโคลสปอริน (cyclosporine) ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์ ยาตัวนี้มีผลแทรกซ้อนสูงคือ ความดันโลหิตสูง, ความผิดปกติของไต, ปวดศีรษะ
โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยต้องยอมรับความจริงว่าโรคนี้ไม่หายขาด และใช้ชีวิตอยู่กับโรคนี้ได้โดยไม่เครียด เพราะความเครียดทำให้โรคสะเก็ดเงินกำเริบได้ ต้องระวังผลแทรกซ้อนจากการใช้ยา ในรายที่เป็นโรคสะเก็ดเงินมากและเรื้อรังอาจต้องปรึกษาอายุรแพทย์ร่วมด้วย เพราะอาจมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ, โรคหลอดเลือดสมองตีบตัน และโรคหลอดเลือดสมองแตก จึงควรมองว่าโรคสะเก็ดเงินไม่ได้เป็นแค่โรคผิวหนัง แต่เป็นโรคของทุกระบบของร่างกาย ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินควรตรวจหาโรคเบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, ไขมันในเลือดสูง และควรงดสูบบุหรี่, งดดื่มแอลกอฮอล์, ควรกินอาหารตามหลักโภชนาการ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ