นิตยสาร หมอชาวบ้าน
คอลัมน์ ผิวสวย หน้าใส
กันยายน ๒๕๕๓
นายแพทย์ประวิตร พิศาลบุตร
แมลงไชชอนจริง vs แมลงไชชอนหลอก ?!?
เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมามีกรณีพบโรคประหลาดมีแมลงออกมาจากผิวหนังในผู้ป่วยที่ลำปาง และชุมพร ซึ่งในที่สุดสรุปว่าน่าเข้าข่ายโรคจิตหลงผิดทางผิวหนัง จึงขอถือโอกาสนี้เล่าเรื่องของแมลงหรือปรสิตที่ไชชอนผิวหนังได้จริง และเรื่องของแมลงหรือปรสิตที่ไชชอนหลอกๆ คือไม่มีตัวตนจริงแต่ผู้ป่วยคิดไปเอง โดยขอเล่าถึงกรณีหลังคือไชชอนหลอกๆ ก่อน
โรคจิตหลงผิดว่ามีปรสิตที่ผิวหนัง (delusions of parasitosis)
ภาพผู้ป่วยจากDavid T Robles MD PhD, Sharon Romm MD, Heidi Combs MD, Jonathan Olson BS, Phil Kirby MD. Delusional disorders in dermatology: a brief review. Dermatology Online Journal 14 (6): 2.
กรณีที่คิดว่ามีแมลงไชชอนแต่จริงๆ ไม่มีนั้น ศัพท์แพทย์เรียกว่า โรคจิตหลงผิดว่ามีปรสิตที่ผิวหนัง (delusions of parasitosis) ผู้ป่วยโรคนี้จะเล่าว่ารู้สึกว่ามีพยาธิ หรือแมลงไต่, ไชชอน, กัดผิวหนัง หรือบินออกจากผิวหนัง โดยมักเล่าประวัติอย่างละเอียด รวมทั้งย้ำคิดย้ำทำที่จะแกะตัวพยาธิออก หรือใช้ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหิด พบบ่อยว่าผิวหนังจะเป็นแผลจากการที่ผู้ป่วยทำเอง ผู้ป่วยอาจนำของสะสมที่เป็นผ้าพันแผล, เส้นผม, เศษผิวหนังที่สะสมในกล่องหรือกระป๋องเล็กๆ มาให้แพทย์ดูด้วย ผิวหนังจะมีรอยแกะเกา, ตุ่มนูน หรือแผล ผู้ป่วยมักไม่ยอมรับความจริงว่าตัวเองมีความหลงผิด เพราะมั่นใจว่ามีความผิดปกติของผิวหนังจริง จึงพบบ่อยว่าผู้ป่วยปฏิเสธการรับการตรวจรักษาทางจิตเวช
พบว่าการใช้ยาที่ผิดกฎหมาย เช่น ยาบ้า (amphetamines) ทำให้เกิดความรู้สึกว่ามีตัวอะไรมาไต่, กัด หรือต่อย แต่ผู้ป่วยไม่มั่นใจว่าเกิดจากปรสิต เรียกเป็นศัพท์แพทย์ว่า formication ส่วนผู้ที่ติดโคเคนจะมีภาพหลอน (visual hallucinations) และมีความรู้สึกว่ามีแมลงคลานอยู่ในผิวหนังเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า cocaine bugs หรือ coke bugs
นอกจากโรคจิตหลงผิดว่ามีปรสิตที่ผิวหนังแล้ว ยังมีโรคหลงผิดทางผิวหนังอื่นๆ อีกคือ โรคฝังใจว่ามีเส้นใยไฟเบอร์ผุดออกมาจากผิวหนัง (Morgellons disease) ผู้ป่วยเชื่อฝังใจว่ามีเส้นใยไฟเบอร์ หรือวัสดุอื่นๆ ฝัง หรือผุดออกมาจากผิวหนัง ผู้ป่วยโทษว่าต้นเหตุเป็นวัสดุ ไม่ได้เป็นพยาธิเหมือนในกรณีแรก โรคฉันไม่สวยไม่หล่อ หรือ body dysmorphic disorders (BDD) ที่พบบ่อยขึ้นทั่วโลกในขณะนี้ ผู้ป่วยกังวลว่ามีความผิดปกติของผิวหนัง หรือมีความผิดปกติ หรืออวัยวะไม่ได้สัดส่วน การทำผ่าตัดศัลยกรรมตกแต่งบ่อยครั้งเกินไป การไปพบแพทย์ผิวหนังรักษาหน้า รวมทั้งการสัก การเจาะ การฝังหมุด การผ่าลิ้นสองแฉก และการตกแต่งร่างกายถาวรแบบสุดขั้วที่เรียกว่า extreme body modification ในบางรายที่มีลักษณะหมกหมุ่นครุ่นคิด น่าจะเข้าข่ายเป็นโรคจิตหลงผิดชนิดนี้ ส่วนโรคจิตหลงผิดว่ามีกลิ่นตัว (delusions of bromhidrosis) ผู้ป่วยจะวิตกกังวลว่ากลิ่นตัว, กลิ่นปาก หรือกลิ่นจากช่องคลอด
สำหรับกรณีผู้ป่วยในข่าวนั้น หลังการเฝ้าสังเกตของคณะแพทย์ผู้รักษาไม่พบแมลงบินออกจากผิวหนัง แต่มีแค่แมลงไต่ตอมผิวหนังที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่าเป็นแมลงวันขายาว ด้วงมอด คาดว่าแมลงน่าจะมาตอมแผลที่ผิวหนังมากกว่า
Dracunculiasis หรือโรค guinea worm
ภาพผู้ป่วยจาก http://nmcgroups.blogspot.com/2009/10/guinea-worm-dracunculiais-cdc-article.html
ส่วนในกรณีที่ถ้าเป็นแมลงหรือปรสิตที่ไชชอนผิวได้จริงๆ นั้น อาจเป็น myiasis คือภาวะที่มีหนอนแมลงวัน (botfly larva) อาศัยอยู่ในคน หรือสัตว์ในช่วงระยะหนึ่ง โดยแมลงเข้าสู่ผิวหนังทางบาดแผลหรือแมลงกัด และไข่ทิ้งไว้ในผิวหนัง ในไทยเคยมีรายงานในภาคใต้ ตัวอย่างของพยาธิที่ชอนไชออกจากผิวหนังได้จริงอีกตัวคือ dracunculiasis หรือโรค guinea worm พบพยาธิตัวนี้ในทวีปแอฟริกา ไม่ต้องเป็นห่วงว่านักบอลคนโปรดที่เพิ่งไปแข่งบอลโลกที่แอฟริกาใต้มาจะติดโรคน่าสยดสยองนี้นะครับ เพราะปัจจุบันพยาธิตัวยาวเหยียดนี้พบแค่ใน 4 ประเทศในแอฟริกาเท่านั้น คือพบเฉพาะในซูดาน, กานา, มาลี, และเอธิโอเปีย
พยาธิอีกตัวที่ไชชอนผิวได้ที่ไม่อยากให้ลืมกันคือพยาธิปากขอ (hookworm) ที่ยังพบบ่อยในบ้านเรา ลักษณะของพยาธิตัวนี้จะเป็นไชชอนเข้าสู่ผิวมากกว่าไชออก เมื่อคนถ่ายอุจจาระไข่พยาธิจะออกมากับอุจาระ ไข่จะฟักและเจริญจนเข้าสู่ระยะตัวอ่อนระยะที่ 3 ซึ่งสามารถไชทะลุผ่านผิวหนังที่ง่ามนิ้วเท้ากลับเข้าสู่ร่างกายคนได้ จึงไม่ควรเดินเท้าเปล่า ที่น่าสนใจอีกกรณีคือ cutaneous larva migrans ที่เกิดจากการไชชอนของตัวอ่อนของพยาธิปากขอแต่มักเป็นพยาธิปากขอในสุนัขและแมว ที่ถ่ายมูลไว้บนดินหรือทราย ไข่พยาธิจะฟักเป็นตัวอ่อน เมื่อคนเราสัมผัสดินหรือทรายนั้น ตัวอ่อนของพยาธิจะไชชอนผิวหนังเห็นลักษณะเป็นเส้นคดเคี้ยวตามผิวหนัง
พยาธิที่ไชชอนผิวหนังอีกชนิดที่พบบ่อยในไทยคือ โรคพยาธิตัวจี๊ด ผู้ป่วยมักมีประวัติการกินอาหารดิบๆ หรือสุกๆ ดิบๆ เช่น ส้มฟัก, ปลาหรือไก่ย่างที่ไม่สุกพอ, ยำกบ อาการคือบวมเคลื่อนที่, ปวดจี๊ดๆ และคัน นอกจากอาการที่ผิวหนังแล้ว พยาธิอาจไชไปอวัยวะที่สำคัญอื่นๆ เช่น ตา, ปอด, กระเพาะปัสสาวะ, และสมอง ท่านอาจารย์พลอากาศตรีนายแพทย์ประสพ นิติทัณฑ์ประภาศ ปรมาจารย์ด้านโรคผิวหนังและคณะได้เคยรายงานว่าพยาธิตัวจี๊ดไชชอนจากผิวหนังไปจนถึงกระเพาะปัสสาวะทำให้ผู้ป่วยถ่ายปัสสวาะเป็นตัวจี๊ด นับเป็นรายงานแรกของโลก นอกจากนั้นก็ยังมีรายงานของท่านอาจารย์สมพนธ์ บุณยคุปต์ ปรมาจารย์ด้านโรคติดเชื้อและคณะที่พบอาการเยื่อหุ้มสมองและสมองอักเสบจากการที่พยาธิตัวจี๊ดไชขึ้นสมอง
สรุปว่า แมลงหรือปรสิตที่ไชชอนผิวหนังนั้นมีทั้งที่เป็นจริงๆ และเป็นหลอกๆ คือหลงผิดไปเองครับ