Healthy Skin Q & A / HealthToday
นายแพทย์ประวิตร พิศาลบุตร
กรกฎาคม 2551
เรื่อง สิว...สิว
สารพัดเทคนิครักษาสิว
Q อยากทราบว่าปัจจุบันมีกรรมวิธีใดที่นอกเหนือจากการใช้ยาทายากิน เพื่อรักษาสิวและรอยแผลเป็นสิวได้บ้างคะ
พรทิพย์ / พิษณุโลก
A ปัจจุบันมีเทคนิคทางกายภาพที่ใช้รักษาโรคสิวและรอยแผลเป็นจากสิว ทำให้ใช้เวลาในการกินยาทายาลดลง จนถึงอาจไม่ต้องกินยาหรือทายาเลยก็ได้ในบางราย เทคนิคเหล่านี้ได้แก่
การลอกผิวหนังด้วยสารเคมี ใช้รักษาสิวและรอยแผลเป็นสิว สารเคมีที่ใช้ เช่น กรดอัลฟ่า ไฮดรอกซี่ หรือ กรดผลไม้ ช่วยลดรอยแผลเป็นสิว หลุมแผลเป็นตื้นขึ้น รอยด่างดำและรูขุมขนโตดูดีขึ้น ป้องกันการเกิดสิวใหม่ ผู้ที่มีผิวคล้ำต้องระวังการลอกหน้า เพราะอาจเกิดรอยดำได้ ผู้ที่เคยเป็นเริม ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ เพราะการลอกหน้าอาจทำให้เริมกำเริบและแพร่กระจายทั่วใบหน้า ทำให้เกิดแผลเป็น
การกดสิว ใช้เครื่องมือกดสิวอุดตันหัวดำและหัวขาว ต้องทำโดยผู้ชำนาญเพราะเม็ดสิวอาจแตกเข้าสู่ผิวข้างเคียงทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อ
การผ่าตัด สิวที่มีลักษณะเป็นถุงซิสต์ขนาดใหญ่ บางครั้งไม่ตอบสนองต่อการรักษาทางยา ต้องใช้การผ่าตัดเจาะเพื่อให้หนองไหลเพื่อลดการอักเสบและเกิดแผลเป็น
การกรีดใต้ผิว เป็นเทคนิคศัลยกรรมที่ลดรอยแผลเป็นที่ใช้รักษาแผลสิวชนิดเป็นลูกคลื่น เทคนิคนี้ใช้การแยกชั้นผิวหนังบริเวณที่เป็นออกจากเนื้อแผลเป็นข้างใต้ ทำให้มีเลือดสะสมอยู่ในรอยแยก มีการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ขึ้นมาในรอยแยกใต้ผิวนั้น หลุมแผลเป็นจึงค่อย ๆ ตื้นขึ้น
เทคนิคการขัดผิวหนังด้วยหัวขัด หลังทำผิวจะแดงดูเป็นแผลถลอก ต้องใช้เวลานานหลายเดือนกว่าแผลหาย วิธีนี้เหมาะสำหรับแผลเป็นที่นูนขึ้นมาเหนือผิว วิธีนี้ไม่ค่อยได้ผลกับแผลเป็นที่เป็นหลุมชนิดเป็นรูเหล็กแทงน้ำแข็ง และยังทำให้หลุมแผลเป็นดูกว้างขึ้นเพราะก้นแผลของแผลเป็นชนิดนี้มักกว้างกว่าปากแผล ไม่ค่อยได้ผลกับแผลเป็นที่หน้าอกและหลัง อาจทำให้เกิดคีลอยด์มากขึ้นเพราะหน้าอกและหลังช่วงบนเป็นตำแหน่งที่เกิดคีลอยด์ง่าย
เทคนิคการขัดผิวด้วยผงอะลูมิเนียม ใช้ผงขัดผลึกอลูมิเนียมพ่นผิวหนังทำให้ผิวส่วนบนลอกออก ช่วยรักษารอยแผลเป็นสิวที่เป็นไม่มาก ทำให้ผิวแลดูเรียบเนียนและมีสีสม่ำเสมอขึ้น
การฉีดสเตียรอยด์ สิวอักเสบมากหรือสิวที่เป็นถุงซิสต์อาจแตกและเกิดแผลเป็น เพื่อลดการอักเสบและป้องกันการเกิดแผลเป็น แพทย์อาจฉีดสิวด้วยสเตียรอยด์ความเข้มข้นต่ำ ซึ่งลดการอักเสบและทำให้สิวยุบภายใน 3-5 วัน ผู้ที่เป็นเบาหวานร่วมด้วยไม่ควรใช้เทคนิคนี้ การฉีด สเตียรอยด์รักษาสิวทำให้สิวยุบเร็วจริง แต่มีข้อแทรกซ้อนคือทำให้เกิดสิวใหม่ตามมา เพราะ สเตียรอยด์เป็นสารก่อสิวด้วย และยังอาจเกิดรอยบุ๋มที่ตำแหน่งที่ฉีด ซึ่งต้องใช้เวลานานหลายเดือนกว่าผิวจะกลับมาเต็มตามปกติ
สำหรับเทคนิคใหม่ ๆ ในการรักษาสิวได้แก่
การฉายแสง ปัจจุบันมีเลเซอร์และแสงหลายชนิดที่นำมาใช้รักษาสิว ส่วนใหญ่แล้วการรักษาด้วยวิธีนี้จะแก้ไขที่เพียงสาเหตุเดียว คือที่ตัวเชื้อแบคทีเรียที่ก่อสิวเท่านั้น ข้อดีของวิธีนี้คือผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องทาหรือรับประทานยา และก็เหมาะสำหรับสิวบางตำแหน่งที่ทายาเองลำบาก เช่น ที่หลัง แต่ข้อเสียคือเทคนิคนี้มีราคาแพงและประสิทธิภาพในการรักษายังไม่แน่นอน
เทคนิคการไถด้วยลูกกลิ้งหนาม เป็นการใช้เครื่องมือที่เป็นลูกกลิ้งหนาม ถูครูดผิวหนังทำให้เกิดรูเล็กมากที่ชั้นนอกสุดของผิวหนัง มีงานวิจัยจากศูนย์ผิวหนัง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร แสดงว่าการใช้เข็มลูกกลิ้งหนามเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาหลุมแผลเป็นจากสิวที่ได้ผลดีและมีผลข้างเคียงน้อย มีการศึกษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจากการใช้เทคนิคลูกกลิ้งหนามในผู้ป่วย 38 ราย ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี โดย 37 รายใช้เพื่อรักษารอยแผลเป็นจากสิว และ 1 รายเพื่อทำให้ผิวอ่อนเยาว์ พบภาวะแทรกซ้อนเพียง 3 ราย คือ รอยคล้ำชั่วคราวและสิวเห่อ เทคนิคนี้ใช้รักษาแผลเป็นสิวชนิดเป็นรูเหล็กแทงน้ำแข็ง ,ชนิดเป็นคลื่น, ชนิดเป็นหลุมรูปกล่อง, ชนิดเป็นตุ่มนูน, ชนิดเป็นอุโมงค์ แต่ไม่เหมาะสำหรับแผลเป็นสิวชนิดคีลอยด์ และต้องไม่ทำในขณะที่ยังมีสิวและผิวหนังอักเสบ
_______________________________________________________________________________________
เมื่อเด็กและทารกเป็นสิว
Q. ลูกสาวอายุแค่ 10 ขวบเริ่มเป็นสิวแล้ว ส่วนพี่ชายเขาอายุ 13 ก็เริ่มเป็นสิวมากเหมือนกันค่ะ อยากสอบถามคุณหมอประวิตร พิศาลบุตร ว่าควรจะต้องรักษาไหม และเด็กเป็นสิวได้ด้วยหรือคะ ทิพยวดี/สมุทรปราการ
A. โดยทั่วไปมักเข้าใจกันว่าสิวเป็นเรื่องของวัยรุ่น ซึ่งก็เป็นความเข้าใจที่ไม่ผิดนักเพราะสิวส่วนใหญ่พบในช่วงวัยรุ่นจริง อย่างไรก็ตามพบสิวในเด็กได้ ปัญหานี้ทำให้ผู้ปกครองเด็กหลายคนตลอดจนตัวเด็กเองเกิดความไม่สบายใจ
สิวในเด็กแบ่งเป็น
สิวในเด็กแรกเกิด พบเป็นตุ่มหนองที่ใบหน้าของเด็กแรกเกิด ไม่พบสิวอุดตัน และ ไม่ทำให้เกิดแผลเป็น สิวในเด็กแรกเกิด เกิดจากการกำเริบของเชื้อยีสต์ โดยทั่วไปมักหายไปได้เองโดยไม่ต้องรักษา แต่ถ้าเป็นมากหรือไม่น่าดู อาจใช้ยาทารักษาเชื้อยีสต์ได้
สิวในทารก โดยทั่วไปเป็นที่แก้ม,บางครั้งเป็นที่หน้าผาก และ คาง ของทารก พบบ่อยกว่าในทารกชาย อาจมีอาการรุนแรงน้อยจนถึงปานกลาง ส่วนใหญ่สิวประเภทนี้จะหายใน 2-3 เดือน พบทั้งสิวอุดตัน (สิวหัวขาวและสิวหัวดำ) , สิวอักเสบหัวแดง และสิวหัวหนอง อาจเกิดแผลเป็นถาวรจากสิวได้ พบว่าผู้ป่วยสิวในทารกที่มีอาการรุนแรงมีแนวโน้มที่จะเกิดสิวรุนแรงในวัยรุ่น สาเหตุของสิวในทารกยังไม่ทราบแน่ชัด เชื่อว่าน่าจะมาจากฮอร์โมนในร่างกาย โดยเฉพาะแอนโดรเจนที่ต่อมหมวกไต ในบางรายก็พบว่ามีระดับของฮอร์โมนเพศชายและฮอร์โมนอื่น ๆ สูงผิดปกติ อย่างไรก็ตามสิวในทารกส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องตรวจหาระดับฮอร์โมน การรักษาสิวในทารก ทั่วไปใช้ยาทา คือ เบนซอยล์ เปอร์ออกไชด์ หรือ ยาทาอีริโทรไมชิน ในรายที่มีอาการรุนแรงมากอาจใช้กลุ่มยากิน เช่น ยากินอีริโทรไมซิน แต่จะไม่ใช้ เตตราไซคลิน เพราะทำให้เกิดฟันแท้เหลืองถาวร
สิวในเด็ก คือสิวในช่วงอายุ 1- 8 ขวบ พบได้น้อย จัดว่าเป็นความผิดปกติ ถือว่าการเกิดโรคสิวในเด็กนั้นต้องได้รับการสืบหาสาเหตุเพื่อให้การรักษาได้ถูกต้อง ซึ่งอาจเกิดจากภาวะเข้าสู่วัยรุ่นเร็วเกินไปจากการเป็นโรคบางอย่าง เช่น ความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ หรือ เนื้องอกที่ผลิตฮอร์โมน สิวในวัยเด็กยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่กระตุ้นให้เกิดสิวได้ แต่ที่พบอย่างมีนัยสำคัญคือสิวจากการได้ยาบางตัว
สิวในเด็กก่อนวัยรุ่น หมายถึงสิวในเด็กอายุ 8 -12 ขวบ พบได้บ่อย มีลักษณะเหมือนสิวในวัยรุ่นทั่วไป และไม่จัดว่าผิดปกติ
สำหรับในกรณีของลูกสาวลูกชายคุณทิพยวดีนั้น หมอเชื่อว่าลูกสาวน่าจะเป็นสิวในเด็กก่อนวัยรุ่น และลูกชายน่าจะเป็นสิวในเด็กวัยรุ่นที่พบบ่อย เป็นความจริงที่สิวจะเริ่มพบครั้งแรกในเด็กหญิงเมื่ออายุน้อยกว่าเด็กชาย เพราะเด็กหญิงเข้าสู่วัยรุ่นเร็วกว่า ควรแนะนำไม่ให้บีบแกะสิวเพราะจะเกิดแผลเป็น ถ้าเป็นมากหรือสงสัยว่ามีความผิดปกติอย่างอื่นร่วมด้วย ควรรับการตรวจรักษาที่ถูกต้องจากแพทย์ผิวหนังและกุมารแพทย์ครับ
นายแพทย์ประวิตร พิศาลบุตร