Healthy Skin Q & A / HealthToday
มิถุนายน 2552
นายแพทย์ประวิตร พิศาลบุตร
สุขภาพผิวดีได้ไม่ต้องแพง และ โรคกลีบกุหลาบเป็นอย่างไร ?
สุขภาพผิวดีได้ไม่ต้องแพง
Q. ช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ค่อยจะดี ต้องเพลาๆ การซื้อเครื่องสำอางและการไปเข้าคอร์สทำหน้าลงบ้าง อยากถามคุณหมอประวิตรว่า มีวิธีการดูแลรักษาผิวหน้าแบบประหยัดอย่างไรบ้างคะ ?
ชลธิพา / กรุงเทพฯ
A. การดูแลรักษาและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นกับผิวพรรณ วิธีปฏิบัติง่ายๆ มีดังนี้
ล้างหน้าด้วยสบู่อ่อน โดยล้างหน้าเบาๆ แล้วซับหน้าให้แห้งด้วยผ้าขนหนูสะอาด อย่าใช้ผ้าขนหนูถูหน้าแรงๆ เพราะจะทำให้สิวอักเสบมากขึ้น ไม่ควรใช้แปรง ฟองน้ำ สบู่ยา หรือสบู่ที่ผสมเม็ดขัดถูใบหน้า
หากเป็นสิวน้อย อาจทายาเองได้ สิวเล็กน้อย เช่น สิวหัวดำ, หัวขาว หรือสิวอักเสบเพียง 1-2 เม็ด อาจหาซื้อยามาทาเองได้ แต่ต้องอ่านฉลากยาให้เข้าใจวิธีใช้โดยละเอียดเสียก่อน ถ้าใช้ครีมทารักษาสิวแล้วเกิดอาการผิวแห้งหรือระคายเคือง ควรปรึกษาแพทย์
พิจารณาให้ดีก่อนใช้เครื่องสำอาง เลือกใช้เครื่องสำอางเท่าที่จำเป็น ต้องไม่มีสารสเตียรอยด์เจือปน เลือกใช้ครีมให้ความชุ่มชื้นที่ไม่มีส่วนประกอบที่เป็นสารเคมีกระตุ้นให้เกิดสิว
ไม่แนะนำให้บีบแกะสิวออกด้วยตัวเอง เพราะทำให้สิวอักเสบลุกลามและเกิดแผลเป็นได้ ส่วนการใช้แผ่นขจัดสิวเสี้ยนนั้น หากใช้บ่อยครั้งเกินไป ผิวอาจอักเสบระคายเคืองและเป็นการกระตุ้นให้เกิดสิวมากขึ้นได้
หลีกไกลรอยย่นโดยขจัดสาเหตุต้นตอ รอยเหี่ยวย่นบนผิวหน้าแบ่งเป็น 3 ชนิดใหญ่ๆ คือ รอยเหี่ยวจากอารมณ์, รอยเหี่ยวจากแสงแดด และรอยเหี่ยวแห้ง การป้องกันรอยย่น 3 แบบนี้คือ การมีอารมณ์แจ่มใส อย่าทำหน้านิ่วคิ้วขมวด เพื่อลดรอยเหี่ยวย่นจากอารมณ์ หลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดจัดเพื่อป้องกันรอยเหี่ยวย่นจากแสงแดด และการใช้ครีมให้ความชุ่มชื้นทาในกรณีของรอยเหี่ยวแห้ง
รักษาฝ้าและกระโดยเลี่ยงแดด ยังไม่มีวิธีใดที่รักษาฝ้าและกระให้หายขาดและไม่เกิดขึ้นใหม่ได้อีก จึงไม่ควรเสียเงินและเวลาให้กับการรักษาฝ้าและกระจนเกินไป การป้องกันและรักษาฝ้าและกระคือ หลีกเลี่ยงแสงแดดในช่วง 08.00 -17.00 น. และใช้ยากันแดด
พักผ่อนให้เพียงพอ นอนหลับวันละไม่ต่ำกว่า 6-8 ชั่วโมง รับประทานอาหารให้ครบหมู่ รวมทั้งผักผลไม้และดื่มน้ำให้เพียงพอ นอกจากนั้นต้องออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
งดสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่ทำให้แก่เร็ว ผิวบาง ผิวหย่อนยาน ผิวแห้ง เกิดมะเร็งผิวหนังได้ง่ายขึ้น เวลาเกิดแผล แผลจะหายช้า การสูบบุหรี่ทำอันตรายต่อผิวหนังได้รุนแรงพอๆ กับการโดนแสงแดดเผา การเที่ยวกลางคืนบ่อยๆ อาจทำให้ผิวเสียได้ เนื่องจากสถานบันเทิงมักอบอวลไปด้วยควันบุหรี่
เลิกดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เปลือกตาบวม ผู้ที่ดื่มจัดจะขาดวิตามินบี ทำให้ผิวพรรณซีด เหี่ยว แห้ง หย่อนยาน เมื่อเมามักไม่ได้ทำความสะอาดใบหน้าก่อนนอน ทำให้เกิดผื่นแพ้เครื่องสำอาง และสิวได้ง่าย
อยากมีผิวสวยต้องไม่เครียด ความเครียดทำให้เป็นลมพิษ ผมร่วง เริมกำเริบ เหงื่อออกมากจนมีกลิ่นตัว หรือสิวกำเริบขึ้นได้ บางรายเวลาเครียดจะแกะสิวเล่น ทำให้เกิดแผลเป็น วิธีหลีกเลี่ยงความเครียด เช่น ออกกำลังกาย การนั่งสมาธิ การเล่นโยคะ การนวด มีอารมณ์ขัน มองโลกในแง่ดี
โรคกลีบกุหลาบเป็นอย่างไร
Q. มีผื่นชมพูมีขุยที่หลัง, ท้อง และแขน ขา ขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย คันมาก ไปพบคุณหมอมาแล้วบอกว่าเป็นโรคกลีบกุหลาบ เลยอยากขอความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ครับ
ทรงวุฒิ / สมุทรปราการ
A. โรคกลีบกุหลาบ (pityriasis rosea) หรือโรคขุยกุหลาบ เป็นโรคผิวหนังที่มีผื่นลักษณะเฉพาะ เริ่มแรกจะมีผื่นเกิดนำมาก่อน เรียกว่าผื่นแจ้งข่าว ต่อมาอีก 1-2 สัปดาห์จะมีผื่นสีชมพูเล็กๆ มีขุยรอบผื่นกระจายทั่วไป ผื่นที่เกิดตามมานี้มักเป็นตามแนวลายเส้นของผิวหนัง จึงทำให้รอยโรคที่หลังอาจเรียงตัวดูคล้ายต้นคริสต์มาส
ผื่นเหล่านี้จะเป็นอยู่นานประมาณ 2-6 สัปดาห์ พบโรคนี้บ่อยที่สุดในคนกลุ่มอายุ 15-40 ปี อาจมีอาการนำมาก่อนผื่นขึ้น ได้แก่อาการเหนื่อยเมื่อยล้า, คลื่นไส้, เบื่ออาหาร, ไข้, ปวดข้อ, ต่อมน้ำเหลืองโต และปวดศีรษะ อาจมีประวัติโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบนนำมาก่อน อาการเหล่านี้อาจนำมาก่อนการเกิดของผื่นแจ้งข่าว ร้อยละ 75 ของผู้ป่วยโรคกลีบกุหลาบ มีอาการคัน ซึ่งร้อยละ 25 อาจคันรุนแรงมาก ปัจจุบันเชื่อว่าเชื้อไวรัส human herpesvirus 6 (HHV-6) และ HHV-7 น่าจะเป็นสาเหตุของโรคนี้ เป็นที่น่าสนใจว่าไข้ออกผื่นในเด็กที่ชื่อไข้ผื่นกุหลาบ หรือไข้หัดกุหลาบ (roseola infantum) ซึ่งมีลักษณะเฉพาะคือมีไข้นำมาก่อน 3 วัน พอไข้ลงจะมีผื่นขึ้น ก็มีรายงานว่าเกิดจากเชื้อไวรัส HHV-6
นอกจากนั้นพบว่า ยาบางตัวทำให้เกิดโรคกลีบกุหลาบได้ เช่น ยาปฏิชีวนะ (metronidazole), ยารักษาสิว (isotretinoin), ยาลดไข้แก้ปวด (aspirin), ยาฆ่าเชื้อรา (terbinafine) ผู้ป่วยโรคกลีบกุหลาบมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้, โรคเซ็บเดิร์ม, โรคสิว และรังแค สูงกว่าคนทั่วไป และพบว่ามักมีการกำเริบของผื่นมากขึ้นในคนที่มีความเครียดสูงอีกด้วย
โรคกลีบกุหลาบอาจมีผื่นคล้ายผื่นของโรคซิฟิลิสระยะที่ 2 ที่เรียกว่าระยะเข้าข้อออกดอก ในรายที่มีประวัติเพศสัมพันธ์ แพทย์จึงอาจตรวจเลือดหาซิฟิลิสเพื่อช่วยในการวินิจฉัยแยกโรค โรคนี้จะทุเลาลงไปได้เอง โดยทั่วไปแพทย์จึงรักษาตามอาการ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการโดนน้ำ, การมีเหงื่อออก และการสัมผัสสบู่เพราะทำให้ผิวแห้งและระคายเคืองผื่นจึงมีอาการกำเริบ อาจใช้ยาทาลดอาการคัน ในกรณีที่เป็นมาก หรือเป็นทั่วตัวควรพบแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจให้ยารับประทานแก้คัน หรือให้สเตียรอยด์ในรูปยาทาตามความเหมาะสม พบโรคกลีบกุหลาบได้ตลอดปี แต่มักพบบ่อยในช่วงที่อากาศเปลี่ยนทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำ เช่น ในฤดูหนาว และฤดูฝน
นายแพทย์ประวิตร พิศาลบุตร