วันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2553

อาการคันอาจส่งสัญญาณว่าเป็นโรคอื่นร่วมด้วย

อาการคันอาจส่งสัญญาณว่าเป็นโรคอื่นร่วมด้วย


ปัจจุบันพบว่าอาการคันเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ได้บ่อยมาก  โดยยังพบได้บ่อยว่าอาการคันนั้นอาจสัมพันธ์กับโรคทางกายตามระบบอย่างอื่นด้วย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายแพทย์ประวิตร พิศาลบุตร แพทย์โรคผิวหนัง เปิดเผยในบทความ
วิชาการตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ (วารสารคลินิก) ฉบับเดือนตุลาคม 2552 นี้ว่า
อาการคันเป็นความรู้สึกไม่สบายผิวหนังที่ทำให้อยากเกา
ประมาณว่าผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยอาการคันร้อยละ 10 - 50

จะตรวจพบว่ามีโรคทางกายที่เป็นสาเหตุของอาการคันร่วมด้วย คืออาจพบ

อาการคันในผู้ป่วยโรคไต ซึ่งมักคันเป็นครั้งคราว หรืออาจคันต่อเนื่องทั้งวันทั้งคืน
อาการคันมักกำเริบเวลากลางคืน หรือระหว่างทำการฟอกไตหรือเพิ่งทำเสร็จ และมักมีผิวแห้งทั่วไป,

ส่วนอาการคันในผู้ป่วยโรคตับ มักคันเป็นช่วงๆ คันไม่มากนัก อาจเป็นเฉพาะที่ หรือกระจายทั่วตัว มักคันมากที่มือและเท้า และตำแหน่งที่สวมเสื้อผ้ารัดรูป อาจพบผิวสีเหลืองที่เรียกดีซ่าน
ไฝแดงลักษณะเหมือนแมงมุม เต้านมโตในผู้ชาย ก้อนไขมันสีเหลืองมักเป็นที่หนังตาบน ม้ามโต ผิวมีสีโคลน,

อาการคันจากโรคเลือดมักคันเฉพาะที่ ซึ่งมักเป็นที่บริเวณรอบทวารหนัก และที่อวัยวะเพศหญิง ในโรคเลือดบางอย่างอาจคันหลังสัมผัสน้ำ มักเป็นหลังอาบน้ำร้อน หรืออาบฝักบัว
ผู้ป่วยที่เป็นโรคโลหิตจางจากขาดเหล็กจะมีผิวซีด อาจมีลิ้น และมุมปากอักเสบ,

อาการคันจากโรคต่อมไร้ท่อ มักเป็นทั่วร่างกาย และสัมพันธ์กับอาการของโรคที่เป็น
ผู้ป่วยเบาหวานบางรายอาจคันที่เฉพาะที่ พบบ่อยที่อวัยวะเพศหญิงหรือทวารหนัก
พบบ่อยว่ามีการติดเชื้อยีสต์และเชื้อราร่วมด้วย
ในผู้ป่วยที่ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยจะมีเล็บเปราะ, ผิวและผมหยาบแห้ง
ส่วนผู้ป่วยที่ต่อมไทรอยด์ทำงานมากจะมีผิวอุ่น, เรียบ และละเอียด
อาจมีโรคลมพิษเรื้อรัง อาการแสดงอื่นคือ มีไข้, หัวใจเต้นเร็ว, ตาโปน

อาการคันในมะเร็ง มักคันรุนแรงปานกลางถึงคันมาก ตำแหน่งที่พบบ่อยคือแขนด้านนอกและหน้าแข้ง พบว่าอาการคันในรูจมูกอาจสัมพันธ์กับเนื้องอกในสมอง
ส่วนอาการคันในมะเร็งต่อมน้ำเหลืองอาจนำมาก่อนการวินิจฉัยโรคนานถึง 5 ปี
อาการคันในกลุ่มนี้จะคันจนทนไม่ได้, คันแบบต่อเนื่อง และคันรุนแรงมาก อาการคันจากโรคเอดส์ อาจพบผื่นลอกเป็นขุยที่ใบหน้า (seborrheic dermatitis), ผิวแห้ง, มีการติดเชื้อที่ผิวหนัง เช่น ติดเชื้อรา, เชื้อไวรัส

นพ.ประวิตร กล่าวว่า การตรวจร่างกายช่วยแยกระหว่างอาการคันจากโรคผิวหนังโดยตรง
และอาการคันที่เนื่องมาจากโรคภายในอื่นๆ โดยที่ในกรณีที่คันจากโรคภายในผู้ป่วยจะมีผิวปกติ หรือมีรอยโรคทุติยภูมิ เช่น รอยแกะเกาตุ่มนูนจากการเกา, ผิวหนาเหมือนเปลือกไม้ หรือมีลักษณะการติดเชื้อที่ผิวหนัง

      ผู้ป่วยอาจมีลักษณะที่เรียกว่าอาการแสดงลักษณะผีเสื้อ (butterfly sign) คือมีบริเวณผิวหนังสีจาง หรือสีผิวปกติที่กลางหลัง และมีผิวสีเข้มหรือรอยเกาอยู่รอบนอกตามบริเวณที่เอื้อมมือเกาได้ถึง  แสดงว่าอาการคันน่ามีสาเหตุจากโรคทางกายอื่นๆ ร่วมด้วย
ในรายที่พบกระเนื้อจำนวนมากซึ่งมักมีอาการคัน อาจเป็นมะเร็งร่วมด้วยแพทย์จึงต้องสืบหามะเร็งภายใน ____________________________________________________________________________________