วันอังคารที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2553

โรคจิตหลงผิดของผิวหนัง

เวชปฏิบัติปริทัศน์ วารสารคลินิก
ความสัมพันธ์ระหว่างจิตใจและผิวหนัง (The Mind and Skin Connection)
ตอนจบ... โรคจิตหลงผิดของผิวหนัง

ประวิตร พิศาลบุตร พ.บ. , เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง
Diplomate, American Board of Dermatology
Diplomate, American Subspecialty Board of Dermatological Immunology
อาจารย์พิเศษภาควิชาเภสัชกรรม, คณะเภสัชศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข,สภาผู้แทนราษฎร

         โรคจิตหลงผิด (delusional disorder) เป็นความผิดปกติทางจิตใจที่มีอาการหลงผิดหนึ่ง หรือหลายอย่าง แต่ไม่มีอาการ และอาการแสดงของโรคทางจิตเวชอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น schizophrenia และไม่มีอาการประสาทหลอน (hallucinations)ที่ชัดเจน อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่มีอาการหลงผิดบางรายอาจพบอาการประสาทหลอนทางสัมผัส (tactile hallucinations)หรือประสาทหลอนทางกลิ่น (olfactory hallucinations) หากว่าอาการเหล่านี้เกี่ยวเนื่องกับเนื้อหาของความหลงผิด และอาการไม่ได้เป็นจากผลโดยตรงด้านสรีรวิทยาจากสาร (เช่น สารเสพติด ยา)หรือจากภาวะความเจ็บป่วยทางกาย โดยทั่วไปผู้ป่วยโรคจิตหลงผิด จะทำงานได้ตามปกติ และไม่แสดงพฤติกรรมที่แปลกพิลึกพิลั่นออกมา แต่เดิมเคยเรียกผู้ป่วยโรคจิตหลงผิดว่า paranoia ปัจจุบันคำว่า paranoia หมายถึงอาการของผู้ป่วย (คือความกลัวที่มากเกินไปและไร้เหตุผล) ไม่ใช้คำว่า paranoia ในการวินิจฉัยชนิดของโรค โรคจิตหลงผิดจัดอยู่ใน ICD-10:F22.

        ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคจิตหลงผิดของผิวหนัง (delusional disorders in dermatology) ที่จะมาพบแพทย์ผิวหนังและแพทย์เวชปฏิบัติมากกว่าที่จะพบจิตแพทย์ เพราะผู้ป่วยเชื่อว่าตนเองมีอาการทางผิวหนัง ได้แก่ delusions of parasitosis, Morgellons disease,body dysmorphic disorders และ olfactory reference syndrome ดังมีรายละเอียดดังนี้

Delusions of parasitosis
(โรคจิตหลงผิดว่ามีปรสิตที่ผิวหนัง)

         ผู้ป่วย delusions of parasitosis (DP) จะบรรยายว่ารู้สึกว่ามีพยาธิ (parasites)ไต่,เจาะเป็นอุโมงค์ หรือกัดผิวหนัง ผู้ป่วยมักเล่าประวัติอย่างละเอียด รวมทั้งมีพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำที่จะแกะตัวพยาธิออก หรือใช้ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหิด ยาฆ่าเชื้อโรค พบบ่อยว่าผิวหนังจะเป็นแผลจากการที่ผู้ป่วยทำเอง ผู้ป่วยอาจนำของสะสมที่เป็นผ้าพันแผล,เลือดแห้ง,เส้นผม และเศษผิวหนัง (ที่เชื่อว่าน่าจะเป็นปรสิตต้นเหตุ) ที่สะสมในกล่องเล็กๆ เรียกว่า "matchbox sign" หรือบางครั้งห่อมาในแผ่นฟิล์มถนอมอาหาร เรียกว่า Saran-wrap signมาให้แพทย์ดู

            ผิวหนังจะมีรอยแกะเกา (excoriations), ตุ่มนูนจาก
การเกา (prurigo nodules) หรือแผล (ulcerations)
พบว่าร้อยละ 35 ของผู้ป่วย DP ปักใจเชื่อว่ามีการติดเชื้อที่ผิวหนังอย่างแน่นอน และประมาณร้อยละ12 ของผู้ป่วย DP อาจพบคนในครอบครัวเดียวกัน หรือในผู้ใกล้ชิดเป็น DP เหมือนกัน เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า folie à deux คำว่า folie à deux แปลว่าความบ้าคลั่ง หรืออุปาทานที่เกิดร่วมระหว่างคน 2 คน เป็นกลุ่มอาการทางจิตเวชที่พบได้ไม่บ่อย ลักษณะคือมีอาการทางจิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือความระแวง (paranoid)หรือความหลงผิด (delusional belief)ที่จะถ่ายทอดจากคนหนึ่งไปสู่คนอื่น ถ้าเป็นรวมกัน 2 คน เรียกว่า folie à deux, รวมกัน 3 คน เรียกว่า folie à trois, 4 คน เรียกว่า folie à quatre, เป็นทั้งครอบครัว เรียกว่า folie à famille หรือถ้าเป็นกับคนหลายคน เรียกว่า folie à plusieurs(ศัพท์ฝรั่งเศส deux แปลว่า 2,trios แปลว่า 3, quatre แปลว่า 4, famille แปลว่า ครอบครัว, plusieurs แปลว่า จำนวนมาก)ปัจจุบันจัดโรคกลุ่มนี้อยู่ใน ICD-10:F24. นอกจากมีรายงานของผู้ป่วย DP ที่มี folie à deux แล้ว ยังมีรายงานที่พบ DP แบบ 3 คน (folie à trois) และที่เป็นทั้งครอบครัว คือ folie à famille(รายงานฉบับนี้ทั้งครอบครัวมีสมาชิกรวม 4 คน จึงอาจเรียกว่า folie à quatre)อีกด้วย

ภาพผู้ป่วยจาก
David T Robles MD PhD, Sharon Romm MD, Heidi Combs MD, Jonathan Olson BS, Phil Kirby MD. Delusional disorders in dermatology: a brief review. Dermatology Online Journal 14 (6): 2.
          ผู้ป่วย DP มักไม่ยอมรับความจริงว่าตัวเองมีความหลงผิด เพราะมั่นใจว่ามีความผิดปกติของผิวหนังจริง DP แตกต่างจาก formication โดยที่ผู้ป่วย formication จะรู้สึกว่ามีตัวอะไรมาไต่,กัด หรือต่อย แต่ผู้ป่วยไม่มั่นใจว่าเกิดจากปรสิต การใช้ยาที่ผิดกฎหมาย เช่น amphetamines ทำให้เกิด formication และมีอาการหลงผิดที่ทำให้แยกไม่ได้จาก DP ผู้ที่ติดโคเคนจะมีภาพหลอน (visual hallucinations)และมีความรู้สึกว่ามีแมลงคลานอยู่ในผิวหนัง เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า cocaine bugs จึงจำเป็นต้องซักประวัติการใช้ยา และประวัติทางจิตเวช เพื่อให้แน่ใจว่าความหลงผิดนั้นไม่ได้เกิดจากโรคทางจิตเวชอื่น เช่น schizophrenia หรือ bipolar disorder.

         ผู้ป่วย DP ที่มีอาการเพียงซีกเดียวของร่างกาย หรือเป็นตาม dermatome ต้องแยกโรคจาก trigeminal neuralgia และ post-herpetic neuropathy เพราะโรคทั้งสองมีอาการปวดผิวหนัง และ ผิวหนังมีความรู้สึกผิดปกติ (dysaesthesia)ในรายที่ปวดมากผู้ป่วยจะแกะเกาผิวทำให้เกิดแผล และมีความเชื่อว่ายังมีปรสิตหลงเหลืออยู่


ระบาดวิทยา


      พบได้ค่อนข้างน้อย แต่มีการสำรวจที่แสดงว่าแพทย์ผิวหนังร้อยละ 84.7 เคยตรวจรักษาผู้ป่วย DP อย่างน้อย 1 ราย, ร้อยละ 33 มีผู้ป่วย DP 1–2 รายในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา,ร้อยละ 28 มีผู้ป่วย DP 3–5 รายในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และร้อยละ 20 กำลังรักษาผู้ป่วย DP อยู่ พบผู้ป่วยโรคนี้บ่อยกว่าในกลุ่มที่มีการศึกษาน้อยและมีเศรษฐสถานะต่ำ อัตราส่วนหญิง:ชาย ประมาณ 2:1 แต่ถ้าแยกตามช่วงอายุ ถ้าอายุต่ำกว่า 50 ปี อัตราส่วน หญิง:ชาย เท่ากับ 1:1 ถ้าอายุมากกว่า 50 ปี อัตราส่วนหญิง:ชาย เท่ากับ 3:1

การวินิจฉัย และการวินิจฉัยแยกโรค

       ในการวินิจฉัย DP ต้องแยกจากโรคที่มีการติดเชื้อจริง เช่น หิด, เหา และโรคที่ทำให้มีอาการคันผิวหนัง เช่น โรคตับอักเสบ, โรคไตเรื้อรัง, โรคติดเชื้อ HIV, โรคต่อมไทรอยด์, โลหิตจาง, ความผิดปกติของระบบประสาท, โรคผิวหนังที่ชื่อ dermatitis herpetiformis และ lymphoma
โรคทางจิตเวชบางอย่างอาจมีอาการเลียนแบบ DP แต่จะมีอาการแสดงอื่นของโรคจิตร่วมด้วย เช่นผู้ป่วย schizophrenia ที่มี paranoia อาจคิดว่าตัวเองถูกแมลงจู่โจม นอกจากนั้นยาบางขนาน เช่นยาที่ใช้รักษาโรค Parkinson,ยาปฏิชีวนะ ciprofloxacin อาจทำให้เกิด DP (drug-induced delusions)ได้ นอกจากนั้นก็มีรายงานผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น DP แต่ในที่สุดก็ตรวจพบว่ามีการติดเชื้อ Limothrips cerealium (เป็นแมลงที่อยู่ตามเม็ดข้าว ซึ่งพบการติดเชื้อมาสู่คนได้น้อยมาก)

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ


           ไม่มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ช่วยในการวินิจฉัย DP อย่างไรก็ตามการตรวจบางอย่างอาจช่วยให้พบโรคอื่นที่มีอาการเลียนแบบ DP ได้ ดังนี้
1. เพื่อตรวจดูว่ามีการติดเชื้อจริงหรือไม่ อาจขูดผิวหนังเพื่อส่องกล้องจุลทัศน์ (mineral oil preparation)ดูเชื้อหิด, ตรวจผิวหนังและเส้นผมหาดูตัวและไข่เหา
2. เพื่อตรวจดูว่ามีความผิดปกติทางระบบประสาทที่เกิดจากสารพิษ หรือการขาดวิตามิน ให้ส่งตรวจหาสาเหตุที่สงสัย
3. เพื่อตรวจดูว่าเป็นโรคอื่นที่ทำให้คัน (เช่น มีเหล็กน้อย,โรคตับ,โรคไต)ควรส่งตรวจตามความเหมาะสม เช่น CBC, urinalysis, ตรวจการทำงานของตับ, ของต่อมไทรอยด์, ของไต (BUN, creatinine), ตรวจหาระดับ electrolytes, กลูโคส, วิตามินบี 12, โฟเลต และเหล็ก
4. ตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคผิวหนังบางโรคที่ทำให้คัน เช่น dermatitis herpetiformis เมื่อทำ skin biopsy ส่งตรวจทางพยาธิวิทยาจะพบ neutrophils ใน dermal papillae, ตรวจผิวหนังรอบรอยโรค (perilesional skin)โดยวิธี direct immunofluorescence พบ granular IgA deposits ใน dermal papillae ถ้าผลการตรวจทางพยาธิวิทยาไม่พบความผิดปกติ ก็จะช่วยยืนยันให้ผู้ป่วยเข้าใจในอาการของตนเองมากขึ้น
5. ในรายที่สงสัยการเสพยา อาจตรวจหาสารเสพติด เช่น cocaine, methylphenidate, amphetaminesการรักษา

ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีลักษณะเฉพาะคือ ไม่เข้าใจ และไม่ยอมรับความเป็นจริงของโรค จึงพบบ่อยว่าผู้ป่วยปฏิเสธการรับการตรวจรักษาทางจิตเวช ทำให้บางครั้งแพทย์ผิวหนัง หรือแพทย์เวชปฏิบัติที่ดูแลผู้ป่วยตั้งแต่เริ่มต้น ต้องให้การรักษาเอง ซึ่งแพทย์ผิวหนังและแพทย์เวชปฏิบัติก็ไม่มั่นใจในการสั่งยา พบว่าแพทย์ผิวหนังเพียงร้อยละ 15 ที่สั่งยา antipsychotics

ยาที่ใช้มานานในการรักษา DP คือ

     pimozide โดยออกฤทธิ์ต้านระบบ central opiate receptor ทำให้ลดอาการคัน และลด formication ข้อควรระวังคือ pimozide อาจทำให้เกิด prolongation of the QT interval เช่นเดียวกับที่พบในกลุ่มยาจิตเวชบางตัว ข้อแทรกซ้อนที่พบบ่อยที่สุดของ pimozide คือ extrapyramidal symptoms คือเคลื่อนไหวลำบาก (stiffness) และกระวนกระวาย อยู่ไม่สุข (akathisia)ที่พบได้ราวร้อยละ 10-15 มีรายงานการเกิดความดันโลหิตต่ำ,ventricular arrhythmias และ sudden cardiac death แต่พบน้อยมาก และพบเมื่อใช้ pimozide ขนาดยาสูง ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำให้ทำ EKG ก่อนและหลังการให้ยา ขนาดยาเริ่มต้นของ pimozide คือ 1-2 มก./วัน และค่อยๆ ปรับขนาดยาตามอาการ ส่วนใหญ่ยาจะมีประสิทธิภาพในขนาดยาระหว่าง 1-10 มก./วัน เพื่อลดข้อแทรกซ้อนของยา pimozide จึงมีการนำยากลุ่มใหม่ๆ มาใช้ แต่ยาเหล่านี้ก็มีข้อแทรกซ้อนคือ ทำให้มีไขมันในเลือดสูง (hyperlipidemia), เบาหวาน, QT interval prolongation และน้ำหนักตัวขึ้น ยาใหม่นี้ เช่น olanzapine ขนาดยา 5-10 มก./วัน และ risperidone ขนาดยา 2-4 มก./วัน มีรายงานการใช้ risperidone ขนาด 37.5 มก. ฉีดเข้ากล้ามเนื้อทุก 2 สัปดาห์
เนื่องจากผู้ป่วยโรคนี้ขาดความเข้าใจในโรค ทำให้พบบ่อยว่าผู้ป่วยมักไม่ร่วมมือในการใช้ยา แพทย์ควรรับฟังปัญหาของผู้ป่วยและให้ความมั่นใจว่าจะพยายามแก้ไขปัญหาให้

        ไม่ควรย้ำหรือใช้คำพูดที่รุนแรงกับผู้ป่วยว่าเป็นโรคจิตหลงผิด ไม่มีประโยชน์ที่จะ confront(เผชิญหน้าโดยย้ำความจริงตรงๆ) ผู้ป่วย DP อาจใช้คำพูดทำนองว่า “หมอเข้าใจว่าคุณเชื่อว่ามีการติดเชื้อ หรือแมลงที่ผิวหนัง และก็เข้าใจว่าคุณมีอาการคันมากจริงๆ แต่หมอก็ไม่สามารถพิสูจน์หาตัวเชื้อได้พบ และก็ไม่สามารถยืนยันว่ามันจะเป็นสาเหตุของปัญหาของคุณ”


Morgellons disease
(โรคฝังใจว่ามีเส้นใยไฟเบอร์ผุดออกมาจากผิวหนัง)

        Morgellons disease เป็นชื่อโรคอุบัติใหม่ที่ตั้งขึ้นใหม่ในพ.ศ.2545 ผู้ป่วยโรคนี้จะมีความเชื่อฝังใจว่ามีเส้นใยไฟเบอร์ หรือวัสดุอื่นๆ ฝัง หรือผุดออกมาจากผิวหนัง ผู้ป่วยจะแกะ และขุดผิวหนังเพื่อหาสิ่งที่ตนเองคิดว่าฝังอยู่ แม้ว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้จะไม่เชื่อว่าสิ่งที่ฝังในผิวหนังเป็นปรสิตเหมือนในกรณีผู้ป่วย DP  แต่ก็จะพบว่าผู้ป่วยสะสมเศษเส้นใยเสื้อผ้า, ผ้าพันแผล, เส้นผมและเศษผิวหนังในกล่องเล็กๆ ที่เรียกว่า matchbox sign เหมือนกับผู้ป่วย DP ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าโรค Morgellons น่าจะอยู่ใน spectrum เดียวกับ DP แต่ผู้ป่วยโรคนี้จะโทษว่าต้นเหตุเป็นวัสดุ ไม่ได้เป็นพยาธิเหมือนในกรณี DP ผู้ป่วยโรคนี้จะแกะเกาผิวหนังจนเกิดแผลรูปร่างแปลกๆ ที่ผิวหนัง นอกจากใช้เล็บขูดผิวหนังแล้ว ผู้ป่วยยังอาจใช้อุปกรณ์อื่นๆ เช่น ที่ตัดเล็บ หรือแหนบถอนขน จึงเรียกว่า tweezer sign ควรสอบถามผู้ป่วยว่านอกจากใช้เล็บแล้ว ผู้ป่วยยังใช้อุปกรณ์ใดๆ ร่วมด้วยเพื่อขูดผิวหรือไม่ เพราะรายที่ใช้อุปกรณ์ร่วมด้วย มักมีความเจ็บป่วยทางจิตมากกว่า มีรายงานบางฉบับเชื่อว่าโรค Morgellons สัมพันธ์กับ Lyme borreliosis แต่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ อย่างไรก็ตามยังเป็นที่ถกเถียงกันมากในวงการแพทย์ว่า โรค Morgellons มีอยู่จริงหรือไม่, เป็นโรคใหม่หรือไม่ หรือเป็นอาการแสดงของโรคที่รู้จักกันอยู่แล้ว มีผู้ที่เชื่อว่าตัวเองเป็นโรคนี้จำนวนมาก ส่วนหนึ่งมาจากการได้ข้อมูลทาง internet ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention, CDC) ของสหรัฐอเมริกากำลังสืบสวนโรคนี้อยู่

มีการตั้งทฤษฎีเพื่ออธิบายการเกิดโรคนี้หลายอย่าง เช่น ทฤษฏีเส้นใยไฟเบอร์ (theories about the fibers) โดยเน้นการสืบค้นหาชนิดของเส้นใยไฟเบอร์ที่ตรวจพบ, สมมติฐานเกี่ยวกับแบคทีเรีย (bacterial hypothesis) พบว่าผู้ป่วยโรค Morgellons หลายรายมีผลตรวจ Western blots ต่อเชื้อ Borrelia burgdorferi ที่เป็นสาเหตุของโรค Lyme เป็นบวก มีผู้เสนอว่าเส้นใยไฟเบอร์ที่พบที่ผิวหนังของผู้ป่วยโรคนี้อาจเกิดจากการติดเชื้อ Agrobacterium ซึ่งเชื้อตัวนี้เป็นเชื้อที่พบในพืช และทำให้เกิดเส้นใยไฟเบอร์ที่เนื้อเยื่อของพืชตรงตำแหน่งที่ติดเชื้อนี้ พบว่าเชื้อนี้เป็น opportunistic infections ในคนที่มีภูมิต้านทานต่ำ, การมีสารพิษในสิ่งแวดล้อม (environmental toxins) ที่อาจเป็นมลพิษ โดยเฉพาะคือยาฆ่าแมลง และ ทฤษฎีสมคบคิด (conspiracy theory คือคำอธิบายที่สร้างขึ้นมาจากความคิดของคน หรือกลุ่มคน โดยนำเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาปะติดปะต่อเข้าด้วยกัน อาจมีข้อเท็จจริงประกอบอยู่เพียงเล็กน้อย นักวิชาการจะไม่ใช้อ้างอิง) เช่นเชื่อว่ามีการปนเปื้อนของสารเคมี, การใช้อาวุธชีวภาพ, เป็นการกระทำของมนุษย์ต่างดาว อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดเกี่ยวกับทฤษฎีต่างๆ เหล่านี้

ระบาดวิทยา

ยังไม่มีรายงานระบุความชุกที่แน่ชัดของกลุ่มอาการนี้ แต่พบว่าอาจสัมพันธ์กับภาวะทางจิต เช่น unipolar และ bipolar depression, schizophrenia และการติดยาเสพติด นักสังคมวิทยาบางท่านระบุว่าโรคนี้น่าจะเป็นอุปาทานหมู่ (mass delusion) ที่ถ่ายทอดผ่านทาง internet โดยมี world wide web เป็นตู้ฟักเชื้อ

อาการและการวินิจฉัย
ยังไม่แน่ชัด พบว่าผู้ป่วยจำนวนมากให้การวินิจฉัยด้วยตนเองว่าเป็นโรคนี้ โดยมักบรรยายว่ามีอาการคือรู้สึกว่ามีตัวอะไรมาไต่ตามผิวหนัง, มีผี่นผิวหนังที่ไม่หาย, พบเส้นใยไฟเบอร์, เม็ด หรือผลึกบน หรือในผิวหนัง และดึงออกมาได้, มีอาการปวดข้อ กล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง, มีอาการเหนื่อยอ่อนมาก และมีความผิดปกติเกี่ยวกับการรับรู้ ได้แก่มีความจำ และสมาธิสั้น

การรักษา

ยังไม่มีแนวทางการรักษาโรคนี้ที่ชัดเจน แต่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าแพทย์ต้องมี rapport (ความเป็นมิตร, ความเห็นอกเห็นใจ) กับผู้ป่วย โดยไม่ควรเรียกโรคนี้ตรงๆ ว่าอาการหลงผิด (delusion) แต่ควรเรียกว่าโรค Morgellons ต้องพยายามหาสาเหตุทางกายให้ละเอียดเพื่อแยกโรคทางกายให้หมดก่อน จึงอธิบายแนวทางการรักษาให้ผู้ป่วยฟัง มีการใช้ยาบางขนานรักษาโรคนี้เช่น pimozide ในขนาดวันละ 0.5-2.0 มก. แพทย์บางท่านนิยมใช้ pimozide เพราะตัวยามีฤทธิ์ต้านอาการคันด้วย นอกจากนั้นก็มีการใช้ risperdal, olanzapine และ aripiprazole ผู้เชี่ยวชาญบางท่านแนะนำให้ปิดแผลด้วย extra-thin hydrocolloid dressings เพราะช่วยกันไม่ให้ผู้ป่วยแกะเกาผิวหนัง และช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น พบว่าแผลเหล่านี้ติดเชื้อบ่อย จึงต้องใช้ยาปฏิชีวนะชนิดทาหรือกินร่วมด้วย

Body dysmorphic disorders(BDD หรือ dysmorphophobia,โรคฉันไม่สวยไม่หล่อ)

เป็นความผิดปกติที่ก่อปัญหาให้แก่แพทย์ที่ประกอบเวชปฏิบัติโรคผิวหนังอย่างมาก ผู้ป่วยกังวลว่ามีความผิดปกติของผิวหนัง หรือมีความผิดปกติ หรืออวัยวะไม่ได้สัดส่วน เช่น จมูก, เปลือกตา, คิ้ว, ริมฝีปาก, ฟัน, เต้านม, อวัยวะเพศ บางคนกังวลเรื่องผมบาง, ขนดก, รูขุมขนโต เป็นความผิดปกติแบบโซมาโตฟอร์ม กลุ่มที่ 2 คือ hypochondriacal disorders จัดอยู่ใน ICD-10: F45.2 ได้กล่าวโดยละเอียดในบทความชุดนี้ตอนที่ 2 ไปแล้ว ในบางครั้งผู้ป่วยโรคนี้อาจมีอาการหลงผิด (delusion) ร่วมด้วย ผู้เชี่ยวชาญบางท่านเชื่อว่า BDD ชนิดทั่วไป (non-delusional dysmorphophobia) และชนิดที่มีอาการหลงผิดร่วมด้วย (delusional dysmorphophobia) อาจเป็นความผิดปกติ 2 ชนิดที่แยกออกจากกัน ปัจจุบันจัดกลุ่มผู้ป่วย BDD ที่มีอาการหลงผิดร่วมด้วย (delusional dysmorphophobia)อยู่ใน ICD-10:F22.8 (other persistent delusional disorders)

Olfactory reference syndrome (delusions of bromhidrosis,โรคจิตหลงผิดว่ามีกลิ่นตัว)

ภาวะการมีกลิ่นตัว (bromhidrosis) เป็นอาการทางร่างกายเรื้อรังที่ผิวหนังมีกลิ่น ส่วนใหญ่เกิดจากการที่ต่อมเหงื่อชนิด apocrine หลั่งเหงื่อมากกว่าปกติ การมีกลิ่นตัวมีส่วนทำลายคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย อย่างไรก็ตามมีผู้ป่วยกลุ่มย่อยที่มีอาการหลงผิดว่าผิวหนังตัวเองมีกลิ่น เรียกว่า olfactory reference syndrome(ORS)โดยที่กลุ่มอาการนี้ผู้ป่วยจะวิตกกังวลเกี่ยวกับร่างกาย,กลิ่นตัว, กลิ่นปาก หรือกลิ่นจากช่องคลอด ร่วมกับมีความอับอาย, ความกังวลใจ ทำให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงการเข้าสังคม จัดเป็นการหลงผิดทางการรับกลิ่น (olfactory delusion)ผู้ป่วยจะอาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้าบ่อยกว่าปกติ มีรายงานผู้ป่วย right temporal lobe epilepsy ที่มีอาการหลงผิดเรื้อรังว่าร่างกายมีกลิ่นตัว จึงมีข้อสันนิษฐานว่าอาจมีความสัมพันธ์ระหว่างรอยโรคที่สมองซีกขวา

ระบาดวิทยา


ยังมีข้อมูลจำกัด มีรายงานฉบับหนึ่งที่ศึกษาผู้ป่วย ORS จำนวน 36 ราย พบว่ามีอายุเฉลี่ยเมื่อเริ่มเป็นคือ 25.4 ปี และร้อยละ 78 เป็นเพศชาย
การรักษา

ยังไม่มีแนวทางการรักษาที่แน่นอน แต่เนื่องจากกลุ่มอาการนี้สัมพันธ์กับโรควิตกกังวล, เครียด (anxiety disorders)จึงมีการใช้ยากลุ่ม SSRIs (selective serotonin reuptake inhibitors), TCAs(tricyclic antidepressants)และการใช้พฤติกรรมบำบัด (cognitive behavioral therapy)

สรุป

ปัจจุบันเริ่มพบโรคจิตหลงผิดทางผิวหนัง และโรคผิวหนังที่สัมพันธ์กับภาวะจิตใจ (ที่ได้กล่าวไปใน 2 ตอนที่แล้ว)มากขึ้น แพทย์เวชปฏิบัติจึงควรให้ความสนใจโรคกลุ่มนี้ บางครั้งผู้ป่วยอาจไม่ยอมรับว่าอาการทางผิวหนังเกิดจากสาเหตุทางจิตใจ และอาจปฏิเสธคำแนะนำให้พบจิตแพทย์ แพทย์เวชปฏิบัติอาจต้องดูแลผู้ป่วยเองในระยะเริ่มต้น แพทย์ต้องสร้างสัมพันธภาพกับผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยไว้ใจและเชื่อถือ จึงควรปรึกษาและดูแลผู้ป่วยร่วมกับจิตแพทย์ หรือแพทย์เฉพาะทางสาขาที่เกี่ยวข้องตามความเหมาะสม มีแนวโน้มว่าจะพบโรคผิวหนังที่เกี่ยวข้องกับจิตใจมากขึ้น ส่วนหนึ่งจากการที่แพทย์เริ่มให้ความสนใจโรคกลุ่มนี้ และอีกส่วนน่าจะมาจากปัญหาความเครียดในการดำเนินชีวิตที่มีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ


ที่มาภาพประกอบ
1. www.dermatology.cdlib.org
2. www.merckmedicus.com
3. www.ksu.edu
4. www.medscape.com
5. www.healthcare.utah.edu
6. www.morgellons-research.org
ตีพิมพ์ในวารสารคลินิก สนพ.หมอชาวบ้าน กันยายน 2552