เวชปฏิบัติปริทัศน์ วารสารคลินิก
ความสัมพันธ์ระหว่างจิตใจและผิวหนัง
(The Mind and Skin Connection)
ตอนที่ 2...ความผิดปกติชนิดโซมาโตฟอร์มของผิวหนัง
ประวิตร พิศาลบุตร พ.บ. , เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง Diplomate, American Board of Dermatology Diplomate, American Subspecialty Board of Dermatological Immunology อาจารย์พิเศษภาควิชาเภสัชกรรม, คณะเภสัชศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข, สภาผู้แทนราษฎร
ในตอนนี้จะกล่าวถึง ความผิดปกติชนิดโซมาโตฟอร์มของผิวหนัง (somatoform disorders in dermatology)ความผิดปกติชนิดโซมาโตฟอร์ม (somatoform disorders) หรือบางครั้งเรียกง่ายๆ ว่า ป่วยก่อนป่วย หรือ โรคที่ไม่เป็นโรคนี้ พบได้บ่อยขึ้นมากในเวชปฏิบัติ เป็นกลุ่มอาการที่มีอาการแสดงทางร่างกายเหมือนเป็นโรค หรือเกิดจากการบาดเจ็บ ที่หาสาเหตุที่แท้จริงว่าเป็นโรคทางกาย, โรคทางจิตใจ หรือจากการได้รับสารไม่ได้ รวมไปถึงอาการหลายอย่าง เช่นปวดศีรษะ, คลื่นไส้, ซึมเศร้า และวิงเวียนศีรษะ ลักษณะเฉพาะของความผิดปกติชนิดโซมาโตฟอร์ม คือไปพบแพทย์เพื่อขอรับการตรวจหลายๆ ครั้งด้วยความเข้าใจว่าตนเองเป็นโรค แต่แพทย์ตรวจไม่พบการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย และได้ยืนยันให้ผู้ป่วยรับทราบ ในการประกอบเวชปฏิบัติโรคผิวหนัง จะพบทั้งผู้ป่วยที่มีลักษณะของรอยโรคผิวหนังที่เห็นเด่นชัดว่า เป็นโรคผิวหนังชนิดใดชนิดหนึ่งอย่างชัดเจน และก็ยังพบกลุ่มผู้ป่วยโรคผิวหนังที่ขาดอาการที่สามารถตรวจพบได้จริง มีการศึกษาแสดงว่าผู้ป่วยที่มาตรวจที่คลินิกผู้ป่วยนอกโรคผิวหนังในโรงเรียนแพทย์ พบว่าร้อยละ 18.5 มีความผิดปกติชนิดโซมาโตฟอร์มนี้
ความผิดปกติชนิดโซมาโตฟอร์มทางผิวหนังมีหลายรูปแบบ เช่น อาการคัน, เจ็บ, paresthesia(ความรู้สึกผิดปกติที่ไร้วัตถุเหตุ เช่น อาการคัน, อาการชา),ความรู้สึกว่ารูปร่างหน้าตาไม่ได้สัดส่วน,กลุ่มอาการมลพิษจากสิ่งแวดล้อม,หรือกลัวหน้าแดง มักมีความผิดปกติทางจิตใจและสังคมร่วมด้วย อาการต่างๆ เป็นตามคำบอกเล่าของผู้ป่วย แต่ไม่สามารถตรวจพบได้จริงโดยแพทย์ สามารถแบ่งโซมาโตฟอร์มของผิวหนังได้เป็น somatisation disorders,hypochondriacal disorders,somatoform autonomic disorders,persistent somatoform pain disorders และ other,undifferentiated somatoform disorders โดยมีรายละเอียดพอสังเขปดังนี้
1. Somatisation disorders
ความผิดปกติชนิด somatisation(ICD-10: F45.0)มีลักษณะคือ ผู้ป่วยจะบ่นว่ามีอาการทางร่างกายหลายลักษณะ และมักเป็นซ้ำๆ มานานอย่างน้อย 2 ปี ทำให้ต้องไปพบทั้งแพทย์เวชปฏิบัติ และแพทย์เฉพาะทางหลายสาขา มักมีอาการเรื้อรังและทำให้เกิดปํญหาทางสังคมและจิตใจ ถ้าเป็นน้อยกว่า 2 ปี และอาการไม่ชัดเจนจะจัดอยู่ในกลุ่ม undifferentiated somatoform disorder (ICD-10: F45.1)ตัวอย่างของความผิดปกติชนิด somatisation ที่เกี่ยวข้องกับผิวหนัง เช่น โรคผิวหนังจากมลพิษในสิ่งแวดล้อม (eco-syndromes)ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เริ่มมีผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งที่อ้างว่าตนเองเป็นโรคผิวหนังจากมลพิษในสิ่งแวดล้อม หรือผงซักฟอก, จากการติดเชื้อราที่พิสูจน์ไม่ได้ หรือจากการแพ้อาหาร แพทย์มักวินิจฉัยโรคเหล่านี้ในชื่อต่างๆ กัน เช่น nihilodermia, clinical eco-syndrome, Lancet article syndrome (เพราะแพทย์มักคิดถึงโรค หรือกลุ่มอาการใหม่ๆ ที่จะมีโอกาสเขียนรายงานลงตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ชื่อดังคือ Lancet)หรือ โรคผิวหนังที่ไม่เป็นโรค (dermatological non-disease)จึงมีลักษณะที่แสดงออกทางคลินิกหลายรูปแบบ โดยเทียบเคียงกับลักษณะความผิดปกติทางอารมณ์ นอกจากนั้นก็มีความผิดปกติทางร่างกายที่ผู้ป่วยเชื่อว่าน่าจะเกิดจากสารพิษในสิ่งแวดล้อม ที่นอกจากจะแสดงอาการทางผิวหนังแล้ว ผู้ป่วยยังมีอาการแสดงของอีกหลายระบบทั่วร่างกาย เช่น ปวดศีรษะ, แสบตา, น้ำมูกไหล, เหนื่อยอ่อน, ไร้อารมณ์, ไม่มีสมาธิ, หลงลืมง่าย, ปวดเมื่อย, หัวใจเต้นเร็ว และหายใจไม่ทัน
กลุ่มอาการแพ้สารเคมีหลายชนิด (MCS syndrome หรือ multiple chemical sensitivity syndrome ผู้ป่วยจะบ่นว่ามีความผิดปกติทางร่างกายหลายอย่างหลังจากที่สัมผัสสารเคมีเพียงเล็กน้อย แต่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าอาการต่างๆ มาจากการแพ้สารที่สัมผัสจริง ผู้ป่วยมักกล่าวว่าตนเองแพ้สารเคลือบไม้, ยาฆ่าแมลง, โลหะหนัก, น้ำยาฆ่าเชื้อโรค หรือน้ำหอม และมีผู้ป่วยหลายรายที่เข้าใจว่าตนเองแพ้ผงซักฟอก โดยมักกล่าวว่าเพิ่งใช้ผงซักฟอกตัวใหม่ซักผ้าปูที่นอน หรือไปนอนเตียงที่อื่นมา นอกจากนั้นผู้ป่วยบางรายจะเชื่อว่าตัวเองแพ้วัสดุอุดฟัน จนต้องเอาวัสดุอุดฟันออก หรือต้องทำ detox เพื่อล้างพิษ
2. Hypochondriacal disorders
ความผิดปกติชนิด hypochondrias(ICD-10: F45.2)ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะกังวล และกลัวว่าร่างกายจะเจ็บป่วย ทำให้เกิดความเครียดและอารมณ์ซึมเศร้า ผู้ป่วยจะบ่นว่ามีอาการผิดปกติต่างๆ ของร่างกาย หรือกังวลว่ารูปร่างหน้าตาตนเองผิดปกติ แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ hypochondriacal disorders in the literal sense และ body dysmorphic disorders (หรือ dysmorphophobia)แต่ไม่รวม delusional dysmorphophobia(ซึ่งจัดอยู่ใน ICD-10:F22.8 )
2.1. Hypochondriacal disorders in the literal sense
มีกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการกลัว หรือหวาดระแวงโดยเน้นไปที่ผิวหนัง หรือเยื่อบุ ที่พบบ่อยคือกลัวเป็นกามโรค (venerophobia)และกลัวเป็นมะเร็ง (carcinophobia),กลัวเป็นมะเร็งไฝดำ (melanomophobia)เมื่อราวสามสิบปีที่แล้วคนจะกลัวเป็นซิฟิลิส (syphilophobia)แต่ปัจจุบันจะกลัวโรคที่ใหม่ๆ กว่า เช่น กลัวเอดส์ (AIDS-phobia),กลัวเชื้อรา (mycophobia),กลัวเชื้อ Borrelia(borreliaphobia,Borrelia เป็น genus ของแบคทีเรียในกลุ่ม spirochete ที่เกี่ยวข้องกับผิวหนัง เช่น Borrelia burgdorferi ซึ่งทำให้เกิดโรคerythema chronicum migrans)และกลัวเป็นพยาธิ (parasitophobia)
2.2. Body dysmorphic disorders (หรือ Dysmorphophobia)
เป็นความผิดปกติที่ก่อปัญหาให้แก่แพทย์ที่ประกอบเวชปฏิบัติผิวหนังอย่างมาก มีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น disfiguration syndrome,ugliness syndrome และ Thersites-complex(Thersites เป็นชื่อทหารในนิยายปรัมปราที่มีรูปร่างหน้าตาน่าเกลียด)ผู้ป่วยกังวลว่ามีความผิดปกติของผิวหนัง หรือมีความผิดปกติ หรืออวัยวะไม่ได้สัดส่วน เช่น จมูก, เปลือกตา, คิ้ว, ริมฝีปาก, ฟัน,เต้านม,อวัยวะเพศ บางคนกังวลเรื่องผมบาง,ขนดก, รูขุมขนโต เรียกว่า body dysmorphic disorders (BDD) หรือ โรคฉันไม่สวยไม่หล่อ สถิติสหรัฐอเมริกาแสดงว่า ประชากรทั่วไปร้อยละ 1-2 เป็น BDD, คนไข้ที่มาพบศัลยแพทย์ตกแต่งร้อยละ 2-7 และคนไข้ที่มาพบแพทย์ผิวหนังร้อยละ 11.9–15.6 เป็น BDD หากเป็นคลินิกที่เน้นรักษาความงาม อาจพบผู้ป่วย BDD สูงถึงร้อยละ 23 ผู้ป่วย BDD จะมีความมั่นใจในตัวเองต่ำ,ชอบดูกระจก หรืออีกทีก็หลีกเลี่ยงการดูกระจกไปเลย,ชอบเปรียบเทียบอวัยวะที่ตนเองคิดว่าผิดปกติ เช่น ตา ,จมูก กับคนอื่น,ชอบถามคนอื่นว่า ตา, หู,จมูกของตนเองปกติ หรือพอดูได้ไหม,ชอบแต่งหน้า ทำผม หวีผมบ่อยๆ ครั้งละนานๆ,ใช้เวลาครุ่นคิดถึงรูปร่างหน้าตาตัวเองวันละ 1-3 ชั่วโมง, บางคนไปทำจมูกซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่ได้ขนาดที่พอใจเสียที บางคนโดดเรียน หนีงาน หลีกเลี่ยงการเข้าสังคม พบอาการซึมเศร้ารุนแรงในผู้ป่วย BDD ได้บ่อย มีสถิติว่า ผู้ป่วยโรคนี้เคยพยายามฆ่าตัวตายสูงถึงร้อยละ 29 พบ BDD ในหญิงและชายเท่ากัน แต่ในชายมักพบประวัติการติดยาสูงถึงร้อยละ 50 โรค BDD มักเริ่มเป็นเมื่ออายุน้อย คือ 16 -17 ปี และเป็นเรื้อรัง ผู้ป่วยหญิงที่มาพบแพทย์มักมีอายุระหว่าง 35 - 50 ปี แต่ผู้ป่วยชายที่มาพบแพทย์มักมีอายุต่ำกว่า 35 ปี
ถ้าโรคนี้เกิดในผู้ใหญ่ บางครั้งจะแสดงอาการในรูปของความกลัวแก่อย่างรุนแรง เรียกว่ากลุ่มอาการ ดอเรียน เกรย์ (Dorian Gray syndrome) ซึ่งตั้งชื่อตามนวนิยายชื่อ The Picture of Dorian Gray ของ Oscar Wilde ที่มีตัวละครเอกเป็นชายหนุ่มหล่อชื่อ ดอเรียน เกรย์ ที่กลัวความแก่มากจนต้องขอให้ภาพวาดแก่แทน สำหรับกลุ่มอาการนี้ ผู้ป่วยจะมีลักษณะของ BDD ที่กล่าวไปแล้ว ร่วมกับการมีพัฒนาการทางจิตใจที่ผิดปกติ หรือ ไม่บรรลุวุฒิภาวะ (narcissistic regression), หลีกเลี่ยงการเข้าสังคม (sociophobia) นอกจากนั้นผู้ป่วยยังมีประวัติใช้ยา หรือ เทคนิคที่ปรับปรุงลีลาชีวิต ('lifestyle' drugs) อย่างน้อย 2 ชนิดใน 6 กลุ่มต่อไปนี้ ได้แก่ ยาปลูกผม เช่น finasteride, ยาลดไขมัน เช่น orlistat , ยาเสริมสมรรถภาพทางเพศ เช่น sildenafil, ยาต้านอาการซึมเศร้า ยาบำรุงสมอง เช่น fluoxetine, nootropics, มารักษาผิวหนังเพื่อเสริมความงาม เช่น ทำเลเซอร์ผลัดผิว, ฉีดสารพิษโบทูลินัมลบรอยย่น และทำศัลยกรรมตกแต่ง เช่น ผ่าตัดดึงหน้า, ดูดไขมัน
ปัจจุบันยังพบผู้ป่วยที่มีอาการคลั่งอยากรับการฉีดสารพิษโบทูลินัม (botulinophilia) พบว่าสัมพันธ์กับ BDD มาก มีรายงานหนึ่งแสดงว่า ผู้ป่วยที่มารับการฉีดสารพิษโบทูลินัมในแง่การเสริมความงาม ร้อยละ 23.10 จะเป็น BDD จัดว่าอาการคลั่งชนิดนี้เป็นข้อห้ามข้อหนึ่งของการฉีดยาตัวนี้ และแพทย์ผู้รักษาควรส่งต่อผู้ป่วยให้จิตแพทย์เพื่อทำจิตบำบัด (psychotherapy)และในปัจจุบันมีกระแสทั้งในต่างประเทศและในไทยที่จะตกแต่งร่างกายด้วยวิธีแปลกๆ (body modification)นอกเหนือไปจากการสัก, การเจาะ, การใส่ห่วง, การฝังมุกอวัยวะเพศชาย ฯลฯ ที่ทำกันมานาน ซึ่งวิธีตกแต่งที่แปลกๆ ที่มาใหม่ เช่น การผ่าลิ้นเป็นสองแฉก, การกรีดหรือเฉือนผิวหนังให้เกิดแผลเป็น,การตัดแต่งใบหูให้แหลมเหมือนหูสุนัข,ฝังเพชรในลูกตา,ตัดเส้นใต้ลิ้น,ตัดนิ้ว ตัดหัวนมทิ้ง,ตัดอัณฑะ,ใส่เขา,ตะไบฟัน เสริมเขี้ยว และ ฉีดน้ำเกลือให้หน้าบวม เป็นต้น พบว่าผู้ที่ตกแต่งร่างกายแบบแปลกๆ นี้ ส่วนหนึ่งมีความผิดปกติทางจิตใจชนิด BDD ร่วมด้วย
3. Somatoform autonomic disorders (Function disorders)
ความผิดปกติชนิด somatoform autonomic function disorders (ICD-10: F45.3) ทางผิวหนังได้แก่ อาการกลัวหน้าแดง (erythrophobia),ขนลุก (gooseflesh)และอาการเหงื่อออกมากบางชนิด (certain subgroups of hyperhidrosis). โดยที่ในกลุ่มอาการกลัวหน้าแดง (erythrophobia)ผู้ป่วยจะมีความวิตกกังวลอย่างมากกลัวว่าตนเองจะมีหน้าแดง ทั้งๆ ที่บางรายคนรอบข้างก็ไม่สังเกตว่าผู้ป่วยมีหน้าแดง ความกลัวหน้าแดงอาจทำให้ผู้ป่วยเลี่ยงการเข้าสังคม ต้องแยกโรคจากอาการหน้าแดงที่เกิดจากอารมณ์ ซึ่งมักแดงที่แก้มและคอ (erythema e pudore)โดยกลุ่มหลังนี้จะไม่มีความผิดปกติทางอารมณ์และจิตใจร่วมด้วย ส่วนอาการขนลุกนั้นเกิดจากระดับใต้สัมปชัญญะ โดยมีตัวกระตุ้นเช่น ความเย็น, อารมณ์ พบว่าความเครียด เช่น การสอบ,การพูดในที่สาธารณะ,ความกลัวทำให้เหงื่อออกได้ มักเป็นที่มือ,เท้า,รักแร้ แต่ต้องแยกโรคจาก secondary hyperhidrosis ที่เกิดจากความผิดปกติทางร่างกายหรือระบบเมตาบอลิสม์
4. Persistent somatoform pain disorders (Cutaneous dysesthesias)
ความผิดปกติชนิด persistent somatoform pain disorders(ICD-10: F45.4)นั้น ผู้ป่วยจะให้ประวัติว่ามีอาการเจ็บปวดที่แพทย์ไม่สามารถอธิบายได้ว่า อาการเจ็บปวดนั้นๆ มีสาเหตุมาจากสาเหตุทางด้านร่างกายหรือทางจิตใจชนิดใด เช่น อาการเจ็บผิวหนังทั้งตัว (dermatodynia),อาการเจ็บผิวหนังเฉพาะที่ (localized nostalgia paresthetica)คือเจ็บปวดและคันที่หลัง มักเป็นที่สะบัก หรือใต้สะบัก,เจ็บลิ้นและเจ็บในช่องปาก (glossodynia,ICD-10:K14.6,F45.4 หรือ F22.0) ร้อยละ 50 ของผู้ป่วยมีความผิดปกติทางบุคลิกภาพ ซึ่งราวร้อยละ 33 – 82 จะพบว่ามีเหตุการณ์สำคัญในชีวิตเกิดร่วมด้วย โดยเฉพาะการสูญเสียคู่ครอง พบว่าผู้ป่วย glossodynia อาจมีอาการแสดงของ alexithymia(แปลว่า ไม่มีคำมาอธิบายความรู้สึก)ร่วมด้วย ยังพบอาการเจ็บหนังศีรษะ (scalp dysesthesia)ส่วนศัพท์ที่ว่า trichodynia(คือเจ็บเส้นผม)นั้นมักไมถูกต้อง เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเจ็บหนังศีรษะร่วมด้วย พบว่าร้อยละ 34 ของผู้ป่วยที่มีภาวะผมร่วง ทั้งชนิด chronic telogenic effluvium และ androgenetic alopecia จะมีอาการเจ็บหนังศีรษะร่วมด้วย
5. Other, undifferentiated somatoform disorders (Cutaneous sensory disorders)
ความผิดปกติชนิด other, undifferentiated somatoform disorders (ICD-10: F45.8)ในทางโรคผิวหนัง แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ generalized somatoform itching เช่น pruritus sine materia และ localized somatoform itching. สำหรับอาการคันทั่วตัวที่ไม่มีสาเหตุ (generalized pruritus sine materia, ICD-10: F45.8) นั้น การวินิจฉัยต้องแยกโรคที่ทำให้คันออกได้หมดก่อน โรคที่ทำให้คันเช่น อาการคันในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง, อาการคันจากโรคตับ, อาการคันจากโรคเลือด (เช่น iron deficiency, polycythemia rubra vera), อาการคันจากโรคระบบต่อมไร้ท่อ ( เช่น hyperthyroidism, hypothyroidism, diabetes mellitus), อาการคันจากโรคมะเร็ง (เช่น Hodgkin disease, non-Hodgkin lymphoma, leukemia) พบบ่อยว่าอาการคันไม่ทราบสาเหตุในผู้ชายอายุไม่มาก อาจเป็นอาการแสดงระยะเริ่มต้นของ lymphoma พบว่าอาการคันจาก lymphoma อาจนำมาก่อนการวินิจฉัยโรค lymphoma ได้นานถึง 5 ปี โดยพบบ่อยที่สุดในผู้ป่วย Hodgkin disease (nodular sclerosing subtype), อาการคันจากแพ้ยา, อาการคันในผู้ติดเชื้อ HIV, การติดเชื้อปรสิต เช่น หิด ซึ่งมักถูกมองข้ามได้บ่อย,พยาธิ เช่น พยาธิปากขอ, พยาธิเข็มหมุด (pinworm), พยาธิทริคิโนสิส (Trichinella spiralis, trichinosis), พยาธิตัวจี๊ด (Gnathostoma spinigerum, gnathostomiasis) ยังมีอาการเฉพาะที่ที่อวัยวะเพศในสตรีเรียกว่า อาการคันของแม่ม่าย (widow’s pruritus)ซึ่งอาจบ่งถึงความขัดแย้งทางจิตใจในเรื่องเพศ แต่จัดอยู่ใน ICD-10: L29.2, F52.9
แนวทางการรักษา
การรักษาผู้ป่วยที่มีความผิดปกติชนิดโซมาโตฟอร์มทางผิวหนังนั้นยากมาก เพราะความผิดปกติมีต้นตอมาจากอารมณ์และปัญหาทางจิตใจ ซึ่งผู้ป่วยไม่ยอมรับความจริงข้อนี้ ทำให้การส่งต่อผู้ป่วยให้จิตแพทย์ก็เป็นไปได้ยาก เพราะผู้ป่วยมั่นใจว่าตนเป็นโรคทางกาย แพทย์เวชปฏิบัติที่ดูแลผู้ป่วยตั้งแต่เริ่มต้นต้องรับฟังปัญหาของผู้ป่วยอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ค่อยๆ ชี้แนะให้ผู้ป่วยเห็นความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาทางผิวหนังที่อาจมีผลสืบเนื่องมาจากจิตใจ อาจใช้พฤติกรรมบำบัด (cognitive behavioral therapy)และพยายามโน้มน้าวผู้ป่วยให้ยอมรับการรักษาทางจิตเวช โดยจิตแพทย์อาจใช้จิตบำบัด (psychotherapy)ในรายที่มีอาการเจ็บหรือคันผิวหนัง อาจให้ผู้ป่วยจดบันทึกรายวันอาการเหล่านี้ตามความรุนแรงในแต่ละวัน (visual analogue scale, VAS) และอาจใช้เทคนิคการผ่อนคลาย (relaxation technics)ร่วมด้วย ในกลุ่มที่เป็น somatising disorders และ cutaneous hypochondrias มักพบความซึมเศร้าและความกังวลร่วมด้วยบ่อย จึงต้องการการบำบัดทางจิตใจหรือเลือกใช้ยาที่เหมาะสม
ในกรณีที่ผู้ป่วยเข้าใจว่ามีอาการจากสารในสิ่งแวดล้อม ห้ามให้คำแนะนำว่าผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงสารที่สงสัยว่าเป็นต้นเหตุ ขจัดสารที่สงสัยออก เช่นโดยการจัดบ้านใหม่ หรือให้ไปพบทันตแพทย์เพื่อเอาวัสดุอุดฟันออก แต่เพียงอย่างเดียว การรักษาที่ได้ผลอาจต้องอาศัยทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม จิตแพทย์ แพทย์โรคภูมิแพ้ และแพทย์โรคผิวหนัง ในผู้ป่วย BDD ต้องวินิจฉัยให้ได้เร็วที่สุด ห้ามให้การรักษาโดยการผ่าตัด หรือโดยใช้เทคนิคการเสริมความงามอื่นๆ แก่ผู้ป่วยโรคนี้ เพราะจะยิ่งเป็นการตอกย้ำให้ผู้ป่วยมั่นใจว่าตนเองมีความผิดปกติทางรูปลักษณ์จริง และขาดโอกาสในการได้รับการเยียวยาทางจิตใจที่ถูกต้อง นอกจากนั้นในกรณีที่ผู้ป่วยไม่พอใจผลการรักษา ตัวแพทย์เองก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องสูง มีผู้กล่าวว่าการให้การรักษาผู้ป่วย BDD แล้วผู้ป่วยไม่พอใจผลการรักษา จัดว่าเป็น “ฝันร้าย” ของศัลยแพทย์ตกแต่ง และแพทย์ผิวหนังด้านเสริมความงาม มีรายงานการใช้พฤติกรรมบำบัด (behavioral cognitive therapy) ว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาโรค BDD และมีรายงานการใช้ยาทางจิตเวชรักษาโรค BDD เช่น fluoxetine hydrochloride, clomipramine, desipramine ในกลุ่ม somatoform pain symptoms มีรายงานว่าใช้ gabapentin ได้ผล จึงเป็นทางเลือกนอกเหนือจากการใช้ antidepressives มีรายงานบางฉบับใช้ gabapentin รักษา glossodynia ได้ผลและดีกว่า เพราะไม่มี anticholinergic side effects ในผู้ป่วย scalp dyesthesia ที่มีอาการซึมเศร้าหรือกังวลร่วมด้วยอาจใช้ยาต้านอาการซึมเศร้า มีการใช้ antihistamines ในการรักษา somatoform pruritus โดยถ้าเลือกใช้ตัวที่ไม่ทำให้ง่วงนอน (non-sedating preparations) จะไม่ค่อยได้ผล การใช้ sedating antihistaminic-effect drugs เช่น hydroxyzin และ antidepressives (doxepin) มีประสิทธิภาพในการลดอาการคันและความซึมเศร้าเนื่องมาจากอาการคัน มีการใช้ tricyclic antidepressives ในการรักษา somatoform pruritus และอาการทางผิวหนังอย่างอื่น เช่น ปวดแสบปวดร้อน, ปวดเหมือนถูกแทง, ปวดเหมือนถูกแทะ และอาการคันยุบยิบตามผิวหนัง อย่างไรก็ตามเนื่องจากการใช้ยากลุ่มจิตเวชอาจมีข้อแทรกซ้อนได้สูง จึงควรศึกษาข้อมูลโดยละเอียดก่อนใช้ยา และควรปรึกษา หรือส่งต่อผู้ป่วยให้จิตแพทย์ถ้าได้รับความยินยอมจากผู้ป่วย
สรุป
การให้การดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีความผิดปกติชนิดโซมาโตฟอร์มของผิวหนังนั้น นับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายแพทย์เวชปฏิบัติและแพทย์ผิวหนังอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้เข้าใจว่าอาการต่างๆ เป็นโรคที่มาจากสาเหตุทางกายโดยตรง จึงมักมาพบแพทย์เวชปฏิบัติหรือแพทย์โรคผิวหนัง แพทย์จึงต้องวินิจฉัยและวางแนวทางในการรักษาโรคกลุ่มนี้ให้ได้
ตีพิมพ์ในวารสารคลินิก สนพ.หมอชาวบ้าน สิงหาคม 2552