Healthy Skin Q & A
HealthToday มกราคม 2554
เขียนโดย นายแพทย์ประวิตร พิศาลบุตร
Acne FAQs
(สาระพันปัญหาสิวสิว)
________________________________________________________________________________________
สวัสดีปีใหม่ พ.ศ. 2554 ครับ.....ฉบับนี้ขอเริ่มด้วยปัญหาที่พบบ่อยๆ เกี่ยวกับเรื่องของโรคสิว ที่จัดว่าเป็นโรคผิวหนังที่พบบ่อยที่สุดโรคหนึ่ง และปัจจุบันยังถือว่าเป็นโรคเรื้อรังที่มีผลต่อร่างกายและจิตใจอีกด้วยนะครับ
สิวเป็นโรคเรื้อรังหรือไม่ ?
Q. ทำไมเวลารักษาสิวมักต้องต่อเนื่องกันนาน สิวเป็น “โรคเรื้อรัง” หรือคะ ?
กนกลดา / เชียงใหม่
A. การรักษาสิว โดยเฉพาะสิวชนิดที่มีการอักเสบมาก หรือสิวหัวช้าง มักกินเวลาต่อเนื่องกันนานจริงๆ ครับ และปัจจุบันแพทย์จัดว่าสิวเป็นโรคเรื้อรังเพราะ ๐ สิวมักเกิดในช่วงวัยรุ่นซึ่งเป็นช่วงที่มักมีความเครียดทางจิตใจมากอยู่แล้ว และมักเป็นอยู่นานหลายปี หลายคนเป็นสิวจนถึงอายุ 30 กว่าๆ ๐ โรคสิวมักกำเริบเป็นระยะๆ ๐ การเป็นสิวยังส่งผลเสียต่อจิตใจและสังคม ๐ การไม่ให้ความสำคัญกับการเป็นสิว หรือคิดว่าสิวเป็นเรื่องธรรมชาติเป็นแล้วก็หายเองได้ ในกรณีที่สิวเป็นมากอาจก่อผลแทรกซ้อน เช่น ทำให้เกิดแผลเป็นถาวร และรอยด่างดำได้ ๐ ในปัจจุบันมีแนวทางการรักษาสิวที่มีประสิทธิภาพสูงหลายวิธี แต่ส่วนใหญ่แล้วการรักษาสิวจะกินเวลานานหลายเดือนหรือเป็นปีๆ
สิวที่ไม่ได้ดูแลรักษาอย่างถูกต้องอาจทำให้เกิดแผลเป็นทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทำให้ผู้ป่วยขาดความมั่นใจ ซึมเศร้า และกระวนกระวาย ทั้งยังมีงานวิจัยแสดงว่า ผู้เป็นสิวมีโอกาสตกงาน และไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งมากกว่าผู้ที่ไม่เป็นสิวด้วย
รักษาสิว...ต้องไปพบหมอบ่อยแค่ไหน ?
Q. หากจะไปหาหมอเพื่อรักษาสิวแล้ว หมอจะนัดมาตรวจบ่อยแค่ไหนครับ ?
ฉันทิศ / กรุงเทพ ฯ
A. โดยทั่วไปแพทย์จะติดตามผลการรักษาผู้ป่วยโรคสิวโดย
๐ นัดผู้ป่วยมาตรวจซ้ำครั้งแรกใน 1- 4 สัปดาห์ เพื่อสอบถามถึงวิธีการใช้ยา และผลข้างเคียง
๐ ต่อไปอาจนัดผู้ป่วยทุก 1- 3 เดือน เพื่อปรับขนาดยา
๐ ดูผลการรักษาหลังรักษาอย่างต่อเนื่องกันแล้วอย่างน้อย 4 - 6 สัปดาห์ขึ้นไป ถ้าไม่ได้ผลหรือเลวลงจึงจะพิจารณาเปลี่ยนยา
๐ หลังจากสิวยุบหมดแล้ว แพทย์อาจให้ผู้ป่วยใช้ยาทาคุมสิวไว้จนกว่าจะพ้นวัยที่เป็นสิว
รักษาสิว...จะถูกเจาะเลือดไหม ?
Q. ไปหาหมอรักษาสิวแล้วจะถูกเจาะเลือด หรือส่งมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือไม่ครับ ?
คมธรรม / นนทบุรี
A. โดยทั่วไปในการรักษาสิวหมอจะไม่ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ยกเว้นในรายที่สงสัยว่าจะเป็น
๐ โรคสิวที่เกิดจากความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ เช่น ผู้หญิงที่ขนดกดำ อ้วน ประจำเดือนผิดปกติเป็นประจำ, เสียงห้าว, และมีศีรษะล้านแบบผู้ชาย กรณีนี้หมอผิวหนังอาจส่งผู้ป่วยให้ผู้เชี่ยวชาญทางนรีเวช และต่อมไร้ท่อร่วมดูแลด้วย
๐ โรคสิวจากเชื้อแบคทีเรียกรัมลบ โดยทำการเพาะเชื้อ
๐ โรคสิวจากเชื้อยีสต์ หรือโรคสิวอักเสบที่ต้องการระบุชนิดของเชื้อ โดยทำย้อมดูเชื้อจากหนอง หรือส่งหนองไปเพาะเชื้อ
๐ รอยโรคที่คล้ายสิว เช่น เนื้องอกของผิวหนังที่ใบหน้าบางอย่าง แพทย์อาจต้องขอตัดชิ้นเนื้อ (biopsy) เพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา
นอกจากนั้นในผู้ป่วยที่ได้รับยากินกลุ่มกรดวิตามินเอ (isotretinoin) ที่แพทย์มักใช้เป็นยาตัวแรกสำหรับการรักษาสิวหัวช้าง และยังอาจใช้ในโรคสิวชนิดอื่นอีกคือใช้ใน โรคสิวที่ไม่ตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะ, โรคสิวที่ก่อให้เกิดแผลเป็น, โรคสิวที่มีความผิดปกติทางจิตใจร่วมด้วย เช่น ซึมเศร้าอย่างมากแม้ว่ารอยโรคสิวจะเป็นไม่มากนัก, โรคสิวที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียกรัมลบ, โรคสิวที่ทำให้หน้าแดง ซึ่งอาจมีจมูกโตผิดรูปร่าง, โรคสิวที่ลุกลามอย่างรวดเร็ว มีไข้และปวดข้อร่วมด้วย, และโรคสิวเรื้อรังที่รักแร้ (hidradenitis suppurativa). ซึ่งการใช้ยารักษาสิวที่ชื่อ isotretinoin นี้ ต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการคือ การทดสอบการตั้งครรภ์ 1 สัปดาห์ก่อนเริ่มให้ยา, หลังจากนั้นทุกเดือน (อาจแทนด้วยการซักประวัติการใช้ยาคุมกำเนิด, ประจำเดือน), ควรใช้วิธีคุมกำเนิด 2 อย่าง (เช่น ยาคุม และ ถุงยางอนามัย ) และต้องหยุดยาครบ 1 เดือนจึงเริ่มตั้งครรภ์ได้, ต้องตรวจหาระดับไขมัน และตรวจการทำงานของตับก่อนเริ่มให้ยา, หลังจากนั้นทุก 1 – 2 สัปดาห์ จนกระทั่งระดับไขมัน และระดับยาคงที่